Skip to content
Home » งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพเนื้ออก  

งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพเนื้ออก  

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

ความเข้าใจถึงสาเหตุของความผิดปรกติกล้ามเนื้ออก เช่น กลุ่มอาการวู้ดดี้เบรสต์ ชัดเจนขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้ ล่าสุดสมาคมวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ในอเมริกาจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ครั้งที่ ๖๖ ระหว่างวันที่ ๓ ถึง ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ นักวิจัยที่มีชื่อเสียงอย่าง ดร.แมสซิมิลเลียโน พีแทรคซี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญา ที่มีผลงานวิจัยมากที่สุดเกี่ยวกับความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกในปัจจุบัน ได้บรรยายถึงสาเหตุต้นตอของความผิดปรกติกล้ามเนื้ออกเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ แต่ยังไม่ทราบวิธีการแก้ไข ลักษณะของปัญหานี้ชี้ชัดไปได้ว่าปรากฏขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการเลี้ยงไก่เนื้อที่เจริญเติบโตเป็นไปตามมาตรฐานสู่ตลาดใหม่ของการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็ว     

ภาพที่ ๑ ขณะที่ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาคุณภาพเนื้ออกในพันธุ์ไก่ยุคใหม่นี้ได้อย่างไร นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่า ต้นตอของความผิดปรกติกล้ามเนื้ออกเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ เพคโทราลลิส เมเจอร์ ที่รวดเร็วอย่างสุดโต่ง (แหล่งภาพ Boida Anatolii / Shuttestock.com)

             ดร.แมสซิมิลเลียโน พีแทรคซี บรรยายถึงความเป็นมาในอดีตของความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขอบคุณความก้าวหน้าด้านพันธุกรรม และแรงขับเคลื่อนจากความต้องการตลาด ช่วยให้การผลิตไก่เนื้อในปัจจุบันมีการเจริญเติบโตจนร่างกายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมในเวลาที่สั้นลงอย่างมากเทียบกับในอดีต

ภาพที่ ๒ ดร.แมสซิมิลเลียโน พีแทรคซี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญา ประเทศอิตาลี (แหล่งภาพ Carlos Suarez)

อย่างไรก็ตาม น้ำหนักร่างกายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ส่งผลกระทบต่อความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกหลายรูปแบบ เช่น  “กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ หรือวู้ดดี้เบรสต์ (woody breast, WB)” และ กล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว หรือไวต์สไตรปิ้ง (white striping, WS) และกล้ามเนื้อคล้ายเส้นสปาเก๊ตตี้ (spaghetti meat) ทั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์แต่อย่างใด แต่ทำให้คุณภาพเนื้อดิบ และเนื้อแปรรูปด้อยลง และส่งผลเสียทางเศรษฐกิจต่อการผลิตเนื้อสัตว์ปีก

            การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ให้มีอัตราการเจริญเติบโต กล้ามเนื้ออก และน้ำหนักไก่จับเข้าโรงฆ่าที่เพิ่มขึ้นอย่างสุดโต่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายประการเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ ทั้งการตอบสนองของกระบวนการอักเสบสูงขึ้น การตอบสนองของแอนติบอดีลดลง กล้ามเนื้อขยายขนาดเพิ่มขึ้น และเส้นเลือดเข้ามาหล่อเลี้ยงลดลง จนก่อให้เกิดความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออก ปัญหาคุณภาพกล้ามเนื้ออกเริ่มพบเป็นครั้งแรกช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ในกล้ามเนื้อสันในที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “เพคโทราลลิส ไมเนอร์ (pectoralis minor)” หรือเทนเดอร์ (tender) แต่ที่อุบัติการณ์เพิ่มสูงมากขึ้นเป็นกล้ามเนื้ออกเพคโทราลลิส เมเจอร์ (pectoralis major)” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา

            ความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกที่สำคัญในปัจจุบัน ๓ ลักษณะ ได้แก่

  • กล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว หรือไวต์สไตรปิ้ง     เป็นความผิดปรกติของลายกล้ามเนื้อเป็นทางสีขาวขนานกันไปตามแนวเส้นใยกล้ามเนื้อบริเวณชั้นบนสุดของส่วนบนกล้ามเนื้ออก
  • กล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ หรือวู้ดดี้เบรสต์ ลักษณะกล้ามเนื้ออกแข็งอย่างเห็นได้ชัด ส่วนท้ายกล้ามเนื้ออกยกตัวขึ้นมาเด่นชัด สีค่อนข้างซีด ชั้นบนสุดของชิ้นกล้ามเนื้อเป็นของเหลวเหนียว และพบจุดเลือดออกกระจายทั่วไป เนื่องจาก การฉีกขาดของหลอดเลือดใต้ชั้นผิวของกล้ามเนื้อ
  •  กล้ามเนื้อคล้ายเส้นสปาเก๊ตตี้ การแยกตกเป็นเส้นของมัดใยกล้ามเนื้ออกจนมีลักษณะคล้ายเส้นสปาเก๊ตตี้

            เมื่อเร็วๆนี้ ดร.แมสซิมิลเลียโน พีแทรคซี ได้ทำการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ไก่เนื้อที่จับเข้าโรงฆ่าที่อายุ ๙ สัปดาห์ มีแนวโน้มที่จะพบอุบัติการณ์ของปัญหากล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว และกล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงมาก โดยพบว่า เนื้ออกไก่ ร้อยละ ๖๙ สังเกตพบปัญหากล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาวระดับรุนแรง หรือรุนแรงมาก และร้อยละ ๕๑.๒ สังเกตพบปัญหากล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ ระดับรุนแรง หรือรุนแรงมาก และยังพบได้บ่อยว่า เนื้ออกบางชนิดปรากฏทั้งสองลักษณะพร้อมกัน

ภาพที่ ๓  ลักษณะกล้ามเนื้ออกที่ผิดปรกติ กล้ามเนื้อคล้ายเส้นสปาเก๊ตตี้ (ซ้าย) กล้ามเนื้อเป็นลายทางสีขาว (กลาง) และกล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ หรือวู้ดดี้เบรสต์ (ขวา) (แหล่งภาพ Kylie Phillipps)  

            ผลกระทบทางเศรษฐกิจของปัญหาคุณภาพเนื้ออกดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมาจากคุณภาพของสินค้าเนื้ออกที่ลดลง สำหรับสินค้าเนื้อดิบที่จำหน่ายเป็นตัว หรือชิ้นส่วนให้กับผู้บริโภค ลักษณะของสินค้า และเนื้อสัมผัสมักถูกปฏิเสธในการเลือกซื้อ สำหรับการผลิตเป็นเนื้อไก่แปรรูป ความสามารถในการอุ้มน้ำ ความคงตัว เนื้อสัมผัส ความชุ่มเนื้อ และกลิ่น เป็นสิ่งสำคัญที่เนื้ออกดังกล่าวด้อยลงไปกว่าเนื้ออกปรกติ  

            ลักษณะภายนอกของกล้ามเนื้ออกที่พบปัญหาคุณภาพข้างต้นจะไม่ค่อยสวยงาม และถูกปฏิเสธการเลือกซื้อ เมื่อพยายามนำไปแปรรูปเป็นสินค้าสุกก็มีปัญหาเกี่ยวกับการอุ้มน้ำ หรือเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากเนื้ออกปรกติ เช่น กล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ก็จะไม่สามารถนำไปหมักได้เหมือนเนื้ออกปรกติ

            ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ นักวิจัยพยายามศึกษาทำความเข้าใจสาเหตุของความผิดปรกติกล้ามเนื้ออกเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม หลักฐานวิทยาศาสตร์ได้ชี้ไปยังต้นตอสำหรับความผิดปรกติเหล่านี้มาจาก การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้ออก เพคโทราลลิส เมเจอร์ หรือเทนเดอร์ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับการบริโภค

            การเจริญเติบโตที่รวดเร็วนำไปสู่การขาดแคลนออกซิเจน เนื่องจาก การส่งสารอาหารไปสู่เนื้อเยื่อไม่เพียงพอ การสะสมผลิตภัณฑ์ของเสียจากกระบวนการเมตาโบลิซึมในเนื้อเยื่อ และสร้างความเครียดต่อเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ เนื่องจาก การสะสมของโปรตีนเพิ่มขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของแคลเซียม

            สภาวะดังกล่าวนี้ เหนี่ยวนำไปสู่การอักเสบ ความบกพร่องของการทำหน้าที่ระบบภูมิคุ้มกัน และยิ่งไปกว่านั้นเป็นการเสื่อมของเส้นใยกล้ามเนื้อ และกระบวนการฟื้นฟูด้วยการสะสมของลิปิด หรือพังพืด

            กล้ามเนื้อคล้ายเส้นสปาเก๊ตตี้ จะมีลักษณะของการแตกออกเป็นเส้นใยกล้ามเนื้อ และการสูญเสียหน้าที่ของการหมุนเวียน และสังเคราะห์คอลลาเจนที่ทำให้เกิดการแตกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในกล้ามเนื้อ

             แม้ว่าการศึกษาหลายสิบปีที่ผ่านมา ดร.แมสซิมิลเลียโน พีแทรคซี ยังไม่พบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เบ็ดเสร็จที่จะหยุดยั้งการเกิดปัญหา หรืออย่างน้อยก็บรรเทาปัญหาความผิดปรกติของกล้ามเนื้อได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบเนื้อที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจาก ความผิดปรกติของกล้ามเนื้อดังกล่าว การพัฒนาด้านพันธุกรรมให้ไก่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วก็ยังไม่มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก ยังได้ผลกำไร และประโยชน์จากการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็วมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้น

            ทิศทางของนักวิจัยในอนาคตจะมองไปที่การสร้างเส้นใยกล้ามเนื้อเพิ่มเติมตั้งแต่ระยะตัวอ่อน และกลยุทธ์ทางโภชนาการ และกระบวนการแปรรูปเนื้อไก่ใหม่ๆเพื่อนำเนื้อที่ผิดปรกติดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น แรงต้านจากการปฏิเสธระบบการเกษตรแบบเข้มข้นในโลกที่พัฒนาแล้ว เช่น การต่อต้านการเลี้ยงไก่เนื้อโตเร็วที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านจากการเลี้ยงไก่เนื้อในปัจจุบันให้เกิดตลาดเกิดใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ราคาพรีเมียมพิเศษต่อไปในอนาคต

            ความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออก เป็นโจทย์วิจัยที่สำคัญของนักวิชาการทั่วโลก บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการด้านสัตว์ปีกเป็นเรื่องของความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออก หลายฉบับต่อเดือน ตัวอย่างของผลงานวิจัยล่าสุดในรอบปี พ.ศ.๒๕๖๔ ดังนี้

  • ลักษณะทางพยาธิทยาของไวต์สไตรปิ้ง โดย Prisco และคณะ (๒๐๒๑) จากอิตาลี ได้แสดงลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา และรูปแบบระดับโมเลกุลของไวต์สไตรปิ้งในไก่เนื้อสายพันธุ์รอส ๓๐๘ อายุ ๕๕ วัน น้ำหนักเฉลี่ย ๓.๕ กิโลกรัม พบว่า การปรากฏของ CD8/MHC I compexes ร่วมกับการแสดงออกของ IL-6, IL-17 และ LITAF (lipopolysaccharide-induced TNF-a factor) ในเนื้ออกที่เกิดไวต์สไตรปิ้ง บ่งชี้ว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างรุนแรงเป็นต้นเหตุของพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เหนี่ยวนำโดยภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (hypoxia)  

ภาพที่ ๔ จุลพยาธิวิทยาของไวต์สไตรปิ้ง โดยการให้คะแนนรอยโรคเป็นระดับ ๑ ถึง ๓ ตามความรุนแรง (A) การฝ่อ (Atrophy) ของกล้ามเนื้ออกไก่ที่เกิดสไตรปิ้ง สังเกตเส้นผ่านศูนย์กลางองกล้ามเนื้อจำนวนมากที่มีขนาดเล็กลง และมีลักษณะกลม (B) การอักเสบ (Inflammation) สังเกตการแทรกเข้ามาของลิมโฟไซต์ และมาโครฝาจระหว่างมัดกล้ามเนื้อ เมื่อรอยโรครุนแรงขึ้นจะมีเนื้อเยื่อไขมันเข้ามาแทน (C) เนื้อตายของเส้นใยกล้ามเนื้อ (Myofiber necrosis) เกิดเนื้อตายของเส้นใยกล้ามเนื้อ และมีเซลล์อักเสบ โดยเฉพาะ มาโครฝาจ แทรกเข้ามาในเนื้อเยื่อ (Prisco et al., 2021)    

  • พันธุกรมของไก่เนื้อมีอิทธิพลต่อรูปแบบโปรตีโอม และการก่อโรควู้ดดี้เบรสต์ Zhang และคณะ (๒๐๒๑) จากมหาวิทยารัฐมิสซีซิปปี ศึกษาพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ เพคโทราลลิส เมเจอร์ ในไก่เนื้อโตเร็ว โดยประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโต และรูปแบบโปรตีโอมโดยอาศัยเทคนิค อิเลคโตรโฟเรซิสสำหรับการแยกโปรตีนในสองมิติ และแอลซี-เอ็มเอส/เอ็มเอส สังเกตได้เลยว่า เนื้ออกที่เกิดวู้ดดี้เบรส์มีน้ำหนักมากกว่าเนื้ออกปรกติ คณะผู้วิจัยยืนยันว่า วู้ดดี้เบรส์มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักเนื้ออกที่สูง โดยไก่เนื้อบางสายพันธุ์มีแนวโน้มพบวู้ดดี้เบรสต์ได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น โดยมีความสัมพันธ์กับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอะพอพโทซิสและการสังเคราะห์โปรตีนที่สูงขึ้น การหดตัวของกล้ามเนื้อที่แรงมากขึ้น และความเครียดจากการออกซิเดชันที่สูงมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในอนาคต การตรวจลำดับสารพันธุกรรมในไก่เนื้อจะช่วยให้การประยุกต์ใช้โปรตีโอมิกส์ในการตรวจสอบไบโอมาร์กเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกติของกล้ามเนื้อ และตรวจสอบผลการปรับปรุงพันธุ์  
  •     การเจริญเติบโตที่รวดเร็วส่งผลต่อการเกิดไวต์สไตรปิ้ง    และพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ Vanhatalo และคณะ (๒๐๒๑) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส สหรัฐฯ การพัฒนาด้านพันธุกรรม อาหารสัตว์ และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารช่วยให้ไก่เนื้อเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ มวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น คณะผู้วิจัย พบว่า ความเสียหายของกล้ามเนื้อสัมพันธ์กับอายุ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยสังเกตเห็นจำนวนเซลล์มาโครฝาจ กระบวนการเก็บกินสิ่งแปลกปลอม และไฟโบรบลาสต์แทรกภายในเนื้อเยื่อเพิ่มสูงขึ้น การใช้แบบจำลองการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ระหว่างไวต์สไตรปิ้ง และการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยากับน้ำหนัก และอายุของไก่เนื้อ   
  • อิทธิพลของเพศ สายพันธุ์ไก่โตเร็ว (Ross 308) ปานกลาง (Hubbard JA757) และช้า (ISA Dual) และระดับโปรตีนต่อคุณภาพเนื้ออก โดย Chodova และคณะ (๒๐๒๑) จากมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐเช็ก  การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ให้โตเร็วส่งผลต่อระดับโปรตีนต่ำลง ระดับพีเอชสูงขึ้นในเนื้ออกไก่เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ไก่โตปานกลาง และช้า  เนื้อไก่จากไก่โตช้ามีลักษณะที่ดึงดูดใจผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจาก ปัจจัยด้านสี และความนุ่มของเนื้อ โดยสรุปว่า พันธุกรรมไก่ส่งผลต่อคุณภาพเนื้ออกไก่มากกว่าเพศ หรือระดับโปรตีนในอาหารสัตว์อย่างยิ่ง
  • การใช้ภาพอัลตราซาวด์ ตรวจสอบวู้ดดี้เบรสต์ในไก่ที่มีชีวิต โดย Vieira และคณะ (๒๐๒๑) จากมหาวิทยาลัยรัฐรีอูกรันดีดูซูล บราซิล ใช้เครื่องมือแพทย์ภาพอัลตราซาวด์เพื่อวิเคราะห์เนื้ออกไก่ขณะที่ยังมีชีวิต เปรียบเทียบกับเนื้ออกของไก่เนื้อพันธุ์คอบบ์ ๕๐๐ ที่เกิดวู้ดดีเบรสต์ โดยประเมินผลกระทบจากการใช้อาหารที่มีพลังงาน และโปรตีนแตกต่างกัน โดยสรุป ภาพอัลตราซาวด์สามารถใช้ตรวจวู้ดดี้เบรสต์ได้ตั้งแต่ระยะแรกก่อนการเกิดปัญหาได้

ภาพที่ ๕ ภาพอัลตราซาวด์ของเนื้ออกไก่เนื้ออายุ ๔๒ และ ๔๙ วันในฟาร์ม ค่าสีเทาเฉลี่ยถูกคำนวณเป็นฮิสโตแกรม (ระดับสีดำถึงขาวจาก ๐ ถึง ๒๕๕ ตามลำดับ) เพื่อประเมินค่าการสะท้อนเสียง หรือเอ็กโคเจนิก (A) เป็นเนื้ออกวู้ดดี้เบรสต์ ระดับคะแนน ๑ ที่อายุ ๔๒ วัน (B) เนื้ออกวู้ดดี้เบรสต์ ระดับคะแนน ๔ ที่อายุ ๔๒ วัน (C) เนื้ออกวู้ดดี้เบรสต์ ระดับคะแนน ๑ ที่อายุ ๔๙ วัน (D) เนื้ออกวู้ดดี้เบรสต์ ระดับคะแนน ๔ ที่อายุ ๔๙ วัน (Vieira et al., 2021)

  • การศึกษาไมโครไบโอตาของไส้ตันต่อการเกิดวู้ดดี้เบรสต์ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการตรวจลำดับสารพันธุกรรมด้วยวิธี Next-generation sequencing (NGS) ช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะที่สำคัญของร่างกายคือ ไมโครไบโอตา Zhang และคณะ (๒๐๒๑) พบว่า ไก่เนื้อที่พบปัญหาวู้ดดี้เบรสต์มีลักษณะสำคัญคือ กระบวนการไกลโคไลซิส และวงจรยูเรียลดลง แต่วงจรกรดไตรคาร์บอกซิลิก (tricarboxylic acid, TCA) การเสื่อมของน้ำตาล และการสังเคราะห์นิวคลีโอไทด์ชนิดพิวรีน และไพริมิดีนเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยสรุปว่า ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีการลดอุบัติการณ์วู้ดดี้เบรสต์ โดยการควบคุมไมโครไบโอตา และกลไกทางชีวเคมีที่อาจมีอิทธิพลต่อการก่อโรคนี้
  • เนื้ออกไก่งวงก็พบปัญหาไวต์สไตรปิง โดย Carvalho และคณะ (๒๐๒๑) จากมหาวิทยาลัยเซาเปาลูในบราซิล วิเคราะห์เนื้ออกด้วยการประเมินทางเนื้อเยื่อวิทยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และการวิเคราะห์คุณลักษณะทางสรีเคมี เช่น สีของเนื้อ ระดับพีเอช ประสิทธิภาพการอุ้มน้ำ การสูญเสียจากการปรุงสุก แรงฉีก บ่งชี้ว่า น้ำหนักเนื้ออกที่สูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดไวต์สไตรปิ้ง และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไก่งวงให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมุ่งเน้นเนื้ออกไก่ มีอิทธิพลต่อการปรากฏปัญหาไวต์สไตรปิ้งในไก่งวง     

เอกสารอ้างอิง

Alonzo A. 2021. Research shows fast growth leads to breast meat issues. WATT Poultry USA. October 2020. 10-13.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *