ผู้ผลิตไก่เนื้อกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนางานวิจัยด้านโภชนาการอาหารสัตว์สำหรับลูกไก่ระยะแรก การให้อาหารระยะแรกเป็นการจัดอาหาร และน้ำตลอดเวลาสำหรับลูกไก่อายุ ๑ วัน นับตั้งแต่ฟักออกจากไข่ ผลการวิจัยส่วนใหญ่ส่งผลดีต่อผลการเลี้ยง เนื่องจาก การพัฒนา และความสมบูรณ์พันธุ์ของอวัยวะที่สำคัญจะไม่สะดุดลงภายหลังการฟัก เช่น ช่วงเวลาระหว่างการขนส่งลูกไก่ แต่ลูกไก่จะยังคงได้รับอาหาร และน้ำต่อไป ผลการเลี้ยงแสดงให้เห็นว่าดีกว่าเดิม และสถานะสุขภาพของไก่ก็ดีกว่าอีกด้วย
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นต้นมา งานวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นประโยชน์ของการให้อาหาร และน้ำระยะแรกต่อผลการเลี้ยง ในช่วงไม่กี่วันของการฟัก ไข่แดงที่คงค้างอยู่จะถูกดึงเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่ ทางเดินอาหารจะพัฒนายาวขึ้น ภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่แล้ว ไข่แดงเป็นแหล่งอาหารเพียงแหล่งเดียวของลูกไก่จนกระทั่งเริ่มกินอาหารสัตว์ ลูกไก่สามารถใช้ไข่แดงที่คงค้างสำหรับการดำรงชีพในช่วงวันแรกๆภายหลังการฟักเป็นตัว อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงการพัฒนา และความสมบูรณ์ของระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะที่มีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันจะพัฒนาช้าลงในไก่ที่พึ่งพาเพียงแต่ไข่แดงคงค้าง โดยไม่มีอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอระหว่างการฟักเป็นลูกไก่จนถึงการลงไก่ที่ฟาร์ม
ความสำคัญของการให้อาหารสัตว์ตั้งแต่ระยะแรกของอายุลูกไก่เนื้อ
ผลการศึกษาของ Noy และคณะ (๑๙๙๖) แสดงให้เห็นว่า ไข่แดงที่คงค้างของลูกไก่ที่เข้าถึงอาหารสัตว์ในช่วง ๙๖ ชั่วโมงแรกหลังฟักเป็นตัว จะลดขนาดลงได้อย่างรวดเร็วกว่าลูกไก่ที่อดอาหาร เชื่อว่าเป็นผลมาจากการทำงานของลำไส้ที่เพิ่มขึ้นในลูกไก่ที่ได้กินอาหาร การลดขนาดของถุงไข่แดงอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า สารอาหารที่สำคัญถูกใช้ได้ง่ายกว่าสำหรับขั้นตอนการพัฒนาที่สำคัญ
ผลการวิจัยของ Geyra และคณะ (๒๐๐๑) แสดงให้เห็นว่า ลูกไก่ที่อดอาหารหลังการฟักชลอการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว และการเจริญเติบโตของลำไส้ ผลของการอดอาหารจำเพาะต่อทั้งเวลาการอดอาหาร และการตรวจลำไส้ทั้งลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนกลาง หรือส่วนท้าย โดยลำไส้เล็กส่วนกลางเป็นส่วนที่มีความไวรับมากที่สุด การอดอาหารระหว่าง ๐ ถึง ๔๘ ชั่วโมงหลังการฟักส่งผลให้ขนาดคลิปต์ จำนวนของคริปต์ต่อวิไล และอัตราการเคลื่อนที่ของเซลล์ลำไส้ (เซลล์ดูดซึมอาหารที่ลำไส้) ในลำไส้เล็กส่วนต้น และส่วนกลาง นักวิจัยให้ความเห็นโดยสรุปว่า การเข้าถึงอาหารตั้งแต่ระยะแรกมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาลำไส้ตั้งแต่ระยะแรก ผลการศึกษาของ Maiorka และคณะ (๒๐๐๓) ยังแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาของระบบทางเดินอาหารมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกินอาหาร และน้ำ โดยแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักตัวสัมพัทธ์ และความยาวของลำไส้เล็กส่วนกลาง และส่วนท้ายเพิ่มขึ้น เมื่อไก่ได้รับอาหาร และน้ำภายหลังการฟักเป็นลูกไก่ นอกจากนั้น การพัฒนาส่วนชั้นเยื่อเมือกของลำไส้ได้รับผลกระทบจากการได้รับอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ จำนวนของวิลไลต่อพื้นที่ลดลง เพราะขนาดของวิลไลเพิ่มขึ้น จากการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยจึงนำเสนอสมมติฐานว่า การปราศจากการกระตุ้นทางกายภาพโดยอาหารสัตว์ในช่องทางเดินอาหาร และความต้องการสารอาหารที่จำเพาะบางชนิด เช่น น้ำ อาจส่งผลกระทบทางลบต่อรูปร่างของชั้นเยื่อบุลำไส้
โปรตีนในถุงไข่แดงคงค้างเป็นแหล่งของแอนติบอดีจากแม่ไก่ แอนติบอดีเหล่านี้ถูกดูดซึมจากถุงแข่แดงเข้าสู่กระแสเลือดไปยังตำแหน่งที่มีความไวรับต่อการติดเชื้อ เช่น พื้นผิวเยื่อเมือกตำแหน่งต่างๆของร่างกายที่เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส สามารถติดเชื้อสู่ร่างกาย Dibner และคณะ (๑๙๙๘) พบว่า การให้อาหารตั้งแต่ระยะแรกส่งผลต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันในไก่เนื้อ โดยแสดงให้เห็นว่า การให้สารอาหารทันทีภายหลังการฟักเป็นลูกไก่มีน้ำหนักต่อมเบอร์ซามากกว่า การปรากฏเร็วขึ้นของอิมมูโนกลอบูลินชนิด เอ ในน้ำดี และเจอร์มินอลเซนเตอร์ (Germincal center) ที่เป็นศูนย์การสร้างเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน จึงช่วยให้ไก่เนื้อมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น การพัฒนาของไก่เนื้อในช่วงสัปดาห์แรกยังมีความสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้ออีกด้วย Havevy และคณะ (๒๐๐๐) แสดงเห็นว่า ระยะเวลาการอดอาหารของลูกไก่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์แซตเทลไลต์อีกด้วย การอดอาหารเป็นเวลานานเกือบทำให้การแบ่งเซลล์หยุดลง และจำนวนของเซลล์แซตเทลไลต์ลดลง ลูกไก่ที่อดอาหารในช่วงวันแรกๆของชีวิตไม่สามารถชดเชยน้ำหนักตัว หรือน้ำหนักกล้ามเนื้อกลับคืนมาได้เมื่ออายุ ๔๑ วัน อย่างไรก็ตาม ลูกไก่ที่อดอาหารระหว่าง ๔ ถึง ๖ วัน ยังสามารถเจริญเติบโตชดเชยกลับคืนมาได้เมื่ออายุ ๔๑ วัน สรุปได้ว่า การให้อาหารในระยะแรกของชีวิตลูกไก่มีอิทธิพลต่อการพัฒนากล้ามเนื้อของไก่เนื้ออย่างมาก สอดคล้องกับ Noy และ Sklan (๑๙๙๙) ก็พบว่า การให้อาหารลูกไก่ตั้งแต่ระยะแรก ช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว และขนาดเนื้ออกที่อายุจับ และยังช่วยลดอัตราการตายได้อีกด้วย
ภาพที่ ๑ ผู้ผลิตไก่เนื้อกำลังให้ความสนใจกับการพัฒนางานวิจัยด้านโภชนาการระยะแรก
การวิจัยด้านโภชนาการระยะแรก
สมัยก่อนเมื่อไก่เนื้อถูกจับเข้าโรงเชือดที่อายุ ๕๖ วัน ระยะเริ่มต้นของการเลี้ยงสิ้นสุดในสองสัปดาห์ และบางครั้งลูกไก่ก็พยายามชดเชยการเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้จาก ความล่าช้าในการลงลูกไก่ หรือวิธีการให้อาหารไม่เหมาะสม เป็นต้น ปัจจุบัน การเลี้ยงไก่เนื้อถึงอายุแค่ ๔๒ วัน หรือน้อยกว่า ทุกวันที่ผ่านไปมีความหมายกว่าเดิม ด้วยเวลาการเลี้ยงที่สั้นลงทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอต่อการชดเชยการเจริญเติบโตเอง หรือแก้ไขข้อผิดพลาดที่ผ่านมาได้อีกแล้ว ผลการวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห้นว่า การจัดการ และโภชนาการที่เหมาะสมระหว่างสัปดาห์แรก หรือแม้กระทั่งสี่วันแรกหลังการฟัก สามารถส่งผลดีต่อผลการเลี้ยงสุดท้ายเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ ๑๐ แสดงว่า ไก่เนื้อสามารถเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากกว่าร้อยละ ๑๐ ได้ประสิทธิภาพ หรือโตเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกไปจนตลอดชีวิต ดังนั้น การเร่งเครื่องตั้งแต่ระยะต้นให้ผลสะท้อนกลับที่เป็นประโยชน์ จนเป็นที่ยอมรับกันดีในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก ผู้ผลิตในฟาร์มขนาดเล็ก และกลางเป็นกลุ่มแรกที่ทราบข้อมูลดีแล้ว เนื่องจาก สามารถลงมือเองได้ง่ายกว่า ขณะที่ ผู้ผลิตขนาดใหญ่อาจยังลังเล เนื่องจาก ไม่มีแรงงานมากเพียงพอที่จะคอยใส่ใจกับไก่รายกลุ่ม หรือรายตัว แต่ให้ความสำคัญกับปริมาณผลผลิตโดยภาพรวมมากกว่า ถึงกระนั้น อาหารสูตรพรีสตาร์ตเตอร์แบบซูเปอร์ (Super broiler pre-starters) สำหรับให้กับลูกไก่ช่วงอายุสี่วันแรกภายหลังการฟักก็ยังคืบคลานสู่ตลาดได้ค่อนข้างช้ามาก อาหารสูตรพิเศษสำหรับลูกไก่สี่วันแรก (0-4 feeds) สามารถให้กับลูกไก่จนถึงอายุไม่เกิน ๗ วัน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนต่อกำไรจะดีกว่าหากให้อาหารช่วงหลังการฟักได้เร็วที่สุด
ภาพที่ ๒ อาหารสูตรพรีสตาร์ตเตอร์แบบซูเปอร์ สำหรับให้กับลูกไก่สี่วันแรกยังไม่เป็นที่นิยม
ส่วนใหญ่แล้ว อาหารสูตรพิเศษนี้จะถูกผลิตในรูปอาหารอัดเม็ดตีแตก (Crumble form) โดยผสมวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสารเติมอาหารสัตว์อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ช่วงลูกไก่เล็กที่ยังกินอาหารน้อยเปรียบเทียบกับช่วงไก่ใหญ่ เมื่อให้ตั้งแต่ช่วงอายุน้อย จะช่วยให้การพัฒนาระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพโดยรวม ทำให้คุณภาพลูกไก่ดีขึ้นได้อีกด้วย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า งานวิจัยด้านโภชนาการระยะแรกยังมีเผยแพร่อยู่น้อย และไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ผลการวิจัยที่สำคัญทั้งหมดยังคงเป็นสิทธิของนักวิจัยภายในบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนค้นคว้า และถึงเวลานี้ก็ต้องการตักตวงผลกำไรจากการลงทุนวิจัยลงไป
๑. ระยะเวลาของการให้อาหารครั้งแรกมีความสำคัญมาก
กลุ่มนักวิจัยจากเกาหลีใต้ Kang และคณะ (๒๐๑๙) ศึกษาระยะเวลาของการให้อาหารครั้งแรกต่อผลการเลี้ยงไก่เนื้อ ผลการวิจัยถบว่า การให้อาหารเกือบทันทีภายหลังการฟักเป็นตัวในช่วงสามชั่วโมงแรก ช่วยให้การกินอาหารเพิ่มขึ้น และน้ำหนักตัวที่อายุ ๒๑ วันสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการให้อาหารครั้งแรกหลังจากนั้น ๑๒ ๒๔ ๓๖ และ ๔๘ ชั่วโมง ขณะที่อีก ๒ กลุ่มการทดลองที่ให้อาหารหลังจากนั้นอีกก็ยิ่งเห็นผลชัดเจน เนื่องจาก ลูกไก่ได้รับความเครียดจากการเดินทางระหว่างโรงฟัก และฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ นอกจากนั้น นักวิจัยยังศึกษาผลของการให้อาหารสัตว์ตั้งแต่ระยะแรกในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่า การพัฒนาของระบบทางเดินอาหาร และค่าชีวเคมีของเลือดดีขึ้นส่งผลต่อสุขภาพของลูกไก่ที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลา ๑๒ ชั่วโมงแรกเป็นนาทีทองสำหรับการผลิตไก่เนื้อ หากนานเกินกว่า ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ต้องใส่ใจกับข้อเสียเปรียบที่ว่า เกิดความความเครียดกับสัตว์ตั้งแต่ต้น
๒. คุณภาพของไขมันส่งผลต่อการย่อยได้
นักวิจัยจากสเปน Jimenez-Moya และคณะ (๒๐๑๙) ศึกษาคุณภาพของไขมันที่ให้ลูกไก่เนื้อระยะแรก โดยให้อาหารสัตว์ที่มีระดับของความอิ่มตัวไขมันแตกต่างกันตั้งแต่ร้อยละ ๑๕ ถึง ๓๘ และปริมาณกรดไขมันระหว่างร้อยละ ๑๑ ถึง ๖๗ พบสิ่งที่น่าสนใจ ๒ ประการ เมื่อระดับความอิ่มต้วของไขมันสูงขึ้น การย่อยไขมันทั้งหมดจะลดลง และกรดไขมันอิ่มตัวจะดูดซึมได้ลดลงราวร้อยละ ๒๒ เมื่อความเข้มข้นของกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นส่งผลลบต่อการย่อยได้ของกรดไขมันอิสระสายสั้นเท่านั้น โดยสรุป ระดับความเข้มข้นของไขมันในอาหารสัตว์ของลูกไก่ระยะแรกมีบทบาทสำคัญมากกว่าความเข้มข้นของกรดไขมันอิสระ สอดคล้องกับผลการวิจัยด้านสูตรอาหารลูกสุกร
ภาพที่ ๒ คุณภาพไขมันในอาหารสัตว์ส่งผลต่อการย่อยได้ในระบบทางเดินอาหารของลูกไก่เนื้อระยะแรก
๓. สูตรอาหารสัตว์พรีสตาร์ตเตอร์ที่มีความเข้มข้นสูง และการย่อยได้สูง
คณะนักวิจัยจากกลุ่มบริษัทฝรั่งเศส Panheleux-Lebastard และคณะ (๒๐๑๙) ทดสอบหลักการด้านโภชนาการสัตว์ ๒ ประการหลักสำหรับไก่เนื้อในระยะแรก หรือสัปดาห์แรกหลังฟัก ควรใช้สูตรอาหารสัตว์ที่มีความเข้มข้นสารอาหารที่สูง หรือความสามารถย่อยได้สูง การจัดแบ่งกลุ่มการทดลอง ประกอบด้วย กลุ่มควบคุมผลลบ และกลุ่มทดลองที่ให้อาหารสูตรที่มีสารอาหารเข้มข้นเป็นพิเศษอีก ๔ กลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าความเข้มข้นของสารอาหารไม่ได้มีขีดจำกัด ผลการวิจัยค่อนข้างชัดเจนมาก ไก่เนื้อที่ได้รับสูตรอาหารสัตว์ที่ย่อยได้มากกว่าระหว่างช่วงแรกภายหลังการฟักมีน้ำหนักสูงกว่ากลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองที่ให้สูตรอาหารสัตว์ที่มีความเข้มข้นสูงทั้งกรดอะมิโน และพลังงาน ผลลัพธ์ที่ดียังคงไปตลอดจนถึงสิ้นสุดการทดลอง นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าโภชนาการอาหารสัตว์ระยะแรกส่งผลต่อคุณภาพเนื้อไก่ที่โรงงานแปรรูปการณ์ผลิตอีกด้วย
๔. ผลของแคลเซียม และพลาสมาในอาหารสูตร ๐ ถึง ๔ วันแรก
คณะนักวิจัยจากภาคธุรกิจ Franco-Rosello และคณะ (๒๐๑๙) โดยบริษัทชื่อดังด้านอาหารสัตว์ Trouw Nutrition ศึกษาผลของสูตรอาหารสัตว์ที่มีแคลเซียมต่ำ ที่ผสม หรือไม่ผสมพลาสมาจากสัตว์นช่วงสี่วันแรกหลังฟักจากไข่ตลอดการเลี้ยงไก่เนื้อจนถึงอายุ ๓๕ วัน พบว่า การให้อาหารสัตว์สูตรที่มีระดับแคลเซียมต่ำช่วยเพิ่มน้ำหนักสุดท้าย ขณะที่ การเสริมพลาสมาจากสัตว์ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ แม้ว่าประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารจะดีกว่าก็ตาม แต่อัตราการตายน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แนวความคิดการใช้สูตรอาหารสัตว์ที่มีระดับแคลเซียมต่ำคล้ายคลึง และสอดคล้องกับผลการวิจัยในลูกสุกร
๕. โปรตีนพิเศษจากถั่วเหลือง และโรคบิด
คณะวิจัยจาก Agilia (AB Group) โดย Schulze และคณะ (๒๐๑๙) บ่งชี้ว่า การให้อาหารสัตว์ด้วยกากถั่วเหลืองที่แปรรูปเป็นพิเศษในช่วงแรกของชีวิต สามารถช่วยให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวได้อย่างมีนัยสำคัญในไก่ที่มีสุขภาพปรกติ แม้ว่า การออกแบบการทดลองไม่ได้ให้เชื้อบิดจำนวนเพียงพอที่จะทำลายเนื้อเยื่อได้ แต่ก็ยังสังเกตเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองพิเศษนี้สามารถลดการก่อโรคของเชื้อบิดลงได้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม รายงานการวิจัยครั้งนี้ช่วยให้เห็นทิศทางว่าควรให้อาหารตั้งแต่ระยะแรกกับไก่ที่มีสุขภาพดี และไม่ดีได้อย่างไร การศึกษาที่คล้ายคลึงกันยังมีรายงานโดย Hemlet Protein ให้ผลคล้ายคลึงกัน โดยใช้พันธุ์ไก่เอเชีย และให้เป็นเวลาที่นานกว่า
เอกสารอ้างอิง
Ioannis Mavromichalis I. 2020. 5 alternative broiler super pre-starter ingredients. [Internet]. [Cited 2016 Mar 8]. Available from: https://www.feedstrategy.com/poultry-nutrition/5-alternative-broiler-super-pre-starter-ingredients/