Skip to content
Home » นวัตกรรมใหม่ใช้น้ำมันหอมระเหยในอาหารสัตว์ปีก

นวัตกรรมใหม่ใช้น้ำมันหอมระเหยในอาหารสัตว์ปีก

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

การใช้ยาปฏิชีวนะในระดับต่ำกว่าการรักษาเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตไก่เนื้อ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต ลดอัตราการป่วย และการตาย อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวะถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรป เนื่องจาก ทำให้มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก และเพิ่มการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย การเสริมอาหารสัตว์ด้วยผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อ และเพิ่มการผลิตไก่เนื้อต่อไปได้

การใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก

ยาปฏิชีวนะเป็นสารประกอบจากธรรมชาติ กึ่งสังเคราะห์ หรือสังคราะห์ ที่นิยมให้โดยการกิน การฉีด หรือการใช้เฉพาะแห่งในมนุษย์ และสัตว์ เพื่อป้องกันและรักษาโรค ยาต้านจุลชีพใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เป็นต้นมา และการค้นพบยาปฏิชีวนะได้สร้างประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก ยาปฏิชีวนะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ การป้องกันโรค หรือการรักษาโรคได้ในการผลิตปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม สารส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เป็นยาปฏิชีวนะ หมายถึง การใช้ยาปฏิชีวนะใดๆในระดับต่ำกว่าระดับสำหรับการรักษา เพื่อลดหรือควบคุมประชากรเชื้อแบคทีเรียในการผลิตปศุสัตว์ เชื้อแบคทีเรียในจีนัส คลอสตริเดียม ซัลโมเนลลา และ ไมโคพลาสมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อการผลิตสัตว์ปีก ยาปฏิชีวนะสามารถควบคุมโรคเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี    

ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย

โดยทั่วไป สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย ช่วยส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารทั้งเอนไซม์ชนิด อะไมเลส สำหรับการย่อยแป้ง และโปรตีเอส สำหรับการย่อยโปรตีน และเพิ่มการเจริญเติบโตได้โดยการกระตุ้นการทำหน้าที่ของเซลล์ที่ดูดซึมสารอาหาร พืชหลายชนิด สามารถใช้เป็นสารเติมอาหารสัตว์ทางเลือกสำหรับทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะส่งเสริมการเจริญเติบโตในการผลิตสัตว์ปีกได้ ไฟโตไบโอติก และสารอนุพันธ์หลายชนิด มีความปลอดภัยกว่ายาปฏิชีวนะ ยังไม่เคยใช้ในทางการแพทย์ หรือสัตวแพทย์ และให้ผลดีต่อการผลิตสัตว์ได้   

ผลของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยต่อการเจริญเติบโตของไก่

๑. ความสำคัญของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยต่อการผลิตสัตว์ปีก ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ในไก่ บ่งชี้ว่า การเติมผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยในอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโต โดยกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์ในระบบย่อยอาหาร ส่งผลให้การย่อย และการดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มอัตราการผ่านของอาหารในท่อทางเดินอาหารดีขึ้น นอกจากนั้น น้ำมันหอมระเหย ยังส่งผลดีต่อการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน และอะไมเลส อีกด้วย การเติมน้ำมันหอมระเหย ช่วยลดโรคของระบบทางเดินอาหาร โดยกดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อโรค และส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพปรกติในทางเดินอาหาร จึงช่วยให้การเจริญเติบโตของสัตว์ดีขึ้นได้ ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ อุณหภูมิ ความข้น ลักษณะปรากฏ และการกินอาหาร ได้รับอิทธิพลมาจากการผลิตน้ำลาย สารอาหาร ขนาดอนุภาคอาหารสัตว์ ความเป็นพิษของอาหาร และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

๒. กลไกการทำงานของน้ำมันหอมระเหยในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก น้ำมันหอมระเหยช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารสัตว์ปีก โดยการฟื้นฟูความสมดุลของจุลชีพ และเพิ่มการดูดซึมสารอาหาร จากผลของสารเทอร์พีนอยด์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารได้ สารประกอบชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการผลิตเอนไซม์ และทำให้การย่อย และดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น  

๓. ผลของน้ำมันหอมระเหยต่อการผลิต การกินอาหาร การเพิ่มน้ำหนัก และการแลกเปลี่ยนอาหาร น้ำมันหอมระเหยหลายชนิดช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของสัตว์ปีก การเสริมน้ำมันหอมระเหยในอาหารไก่เนื้อ โดยใช้ซินนามัลดีไฮด์ ๕ กรัมต่อตัน และไทมอล ๑๕ กรัมต่อตัน ลดแบคทีเรียที่เป็นโทษ และช่วยรักษานิคมของจุลชีพที่เป็นประโยชน์ และการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น

ผลของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยต่อการต่อต้านอนุมูลอิสระ

            กระบวนการออกซิเดชันของลิปิด และการสร้างอนุมูลอิสระ เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ทำลายโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ ทำลายกระบวนการขนส่ง และทำให้เกิดการเสียหน้าที่ขององค์ประกอบย่อยภายในเซลล์ ภายในเยื่อหุ้มเซลล์แล้ว ฟอสโฟไลปิดมีความไวรับต่อการถูกทำลายจากกระบวนการออกซิเดชันตามระดับของการไม่อิ่มตัวของกรดไขมัน กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมีความสำคัญต่อคุณสมบัติของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น การเคลื่อนที่ผ่าน และความเหลวตัว

            สารต้านอนุมูลอิสระสังเคราะห์ เช่น บิวไทเรต ไฮดรอกซิล แอนิโซล หรือบิวไทเรต ไฮดรอกซิล โทลูอีน เป็นต้น ถูกใช้ในการขัดขวางกระบวนการออกซิเดชันของลิปิด อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์ก็ยังเป็นข้อถกเถียง เนื่องจาก เป็นสารก่อมะเร็ง ด้วยเหตุผลนี้ ผู้บริโภคจึงหันมาให้ความสนใจกับสารต้านอนุมูลจากธรรมชาติ โครงสร้างทางเคมี และคุณสมบัติที่มีปฏิกิริยารีดอกซ์ได้สูงของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย ช่วยสลายอนุมูลอิสระ นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย อุดมไปดวยสารประกอบฟีนอลที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังสามารถเป็นโปรออกซิแดนท์ได้อีกด้วย ขึ้นกับขนาด และชนิด โดยทำลายเซลล์ และองค์ประกอบย่อยภายในเซลล์ รวมถึง ความเป็นพิษระดับเซลล์

ภาพที่ ๑ น้ำมันหอมระเหยส่งผลบวกต่อคุณภาพเนื้อ และการผลิตไข่ไก่ (Abd El-Hack  et al., 2022)  

๑. เชื้อจุลชีพก่อโรคอาหารเป็นพิษในสัตว์ปีกที่สำคัญ เชื้อก่อโรคชนิดแบคทีเรียที่สำคัญ ได้แก่ ซัลโมเนลลา และ แคมไพโลแบคเตอร์ สามารถถ่ายทอดได้ผ่านผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก และเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดในมนุษย์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั้ง ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และไก่งวง เป็นแหล่งสำคัญของการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก ตำแหน่งสำคัญสำหรับการเพิ่มจำนวนของเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก ได้แก่ ไส้ตัน ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนต่อไปในซากสัตว์ปีก และเปลือกไข่ การติดเชื้อที่เปลือกไข่ด้วยเชื้อ ซัลโมเนลลา อาจเกิดจากมูลสัตว์ที่ติดเชื้อปนเปื้อนโดยตรงไปตามเปลือกไข่ ก่อนหรือหลังการวางไข่ เช่นเดียวกับ เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ส่นใหญ่เพิ่มจำนวนบนชั้นเมือกของไส้ตัน และเซลล์บุผิว เมื่อเชื้อไปอาศัยในตัวสัตว์ตัวหนึ่งได้สำเร็จก็จะแพร่กระจายต่อไปอย่างรวดเร็วทั้งฝูง โดยการขับเชื้อผ่านมูลสัตว์ปีก และการแพร่กระจายผ่านมูลสัตว์เข้าสู่ปากจากน้ำ และอาหารสัตว์ ในการเลี้ยงสัตว์ปีกอินทรีย์ สัตว์ยิ่งมีโอกาสได้รับเชื้อ ซัลโมเนลลา และ แคมไพโลแบคเตอร์ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก อาศัยอยู่ภายนอกโรงเรือน เชื้อสามารถติดสู่สัตว์ได้จากดิน หรือน้ำ

ภาพที่ ๒ ผลของน้ำมันหอมระเหยส่งผลบวกต่อการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการผลิต เป็นผลมาจากฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ การต่อต้านเชื้อจุลชีพ และการปรับภูมิคุ้มกัน (Abd El-Hack  et al., 2022)

๒. การต่อต้านเชื้อจุลชีพของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย

            ประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อขึ้นอยู่กับการจัดการสุขภาพทางเดินอาหาร ความสมดุลของประชากรเชื้อโรค และจุลชีพที่เป็นประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร        มีบทบาทสำคัญต่อการย่อย และการดูดซึมสารอาหาร เชื้อ เอสเชอริเชีย โคไล ซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียมและ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ เป็นเชื้อก่อโรคสำคัญ ๓ ชนิดในลำไส้ของสัตว์ปีก อย่างไรก็ตาม การดื้อยาปฏิชีวนะ ที่มีสาเหตุจากยาปฏิชีวนะถูกใช้เป็นสารเสริมการเจริญเติบโต แล้วถูกห้ามใช้ในอาหารสัตว์ปีก การผลิตสัตว์ปีกจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องค้นหาทางเลือกใหม่สำหรับทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะส่งเสริมการเจริญเติบโต

            ไฟโตไบโอติก โดยเฉพาะ น้ำมันหอมระเหย ให้ผลบวกต่อการผลิตสัตว์ปีก และการกินอาหารสัตว์ โดยการเพิ่มรสชาติ และความน่ากินของอาหาร ไฟโตไบโอติก สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น ตะไคร้ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus) ช่วยยับยั้งเชื้อ ซ. ไทฟิมูเรียม อี. โคไล สแตฟไฟโลคอคัส ออเรียส ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส และ เคลบเซลลา นิวโมเนีย ได้ น้ำมันตะไคร้ และน้ำมันมะกรูด (ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix) มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อราต่อต้านยีสต์ที่ก่อโรค เช่น แคนดิดา อัลบิแคนส์

            ชั้นเยื่อเมือกของกระเพาะ และลำไส้เป็นปราการด่านแรกที่สัมผัสกับองค์ประกอบของอาหาร ความสูง และความลึกคริปต์ของวิลไลเป็นตัววัดที่สำคัญที่สุดสำหรับการประเมินความสามารถในการย่อยอาหารของลำไส้ การเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนระหว่างความสูง และความลึกคริปต์ ส่งผลต่อการย่อย และการดูดซึมอาหาร การเติมยาปฏิชีวนะในอาหารไก่ ช่วยลดความหนาแผ่นของผนังลำไส้ ส่งผลให้น้ำหนักลด และเพิ่มความยาวของลำไส้  นักวิจัยหลายคณะ รายงานว่า การเสริมผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยช่วยเพิ่มความสูงของวิลไล โดยความสูงของวิลไลมีความสัมพันธ์กับคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ องค์ประกอบภายในผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย เช่น ซินนามัลดีไฮด์ ช่วยป้องกันการทำลายวิลไล โดยเพิ่มฤทธิ์ของเอนไซม์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ   

ภาพที่ ๓ ผลของน้ำมันหอมระเหยส่งผลบวกต่อรูปร่างของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร และผนังเซลล์เชื้อแบคทีเรีย และเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์ (Abd El-Hack  et al., 2022)

            ผลของการเสริมผลิตภัณฑ์น้ำมันหอม สามารถลดระดับคอเลสเตอรอล องค์ประกอบที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์น้ำมันหอม เช่น cineole, borneol, citral, menthone, geraniol, menthol, fenchyl alcohol, genchone และ ionone ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 3-hydroxyl-3-methylglutaryl coenzyme A reductase (HMG-CoA) ในตับ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญสำหรับการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล เช่น ระดับคอเลสเตอรอลในซีรัม ลดลงร้อยละ ๒ ในสัตว์ปีก เป็นผลจากการยัยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวลงได้ร้อยละ ๕

            นักวิจัยศึกษาความสามารถของผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยต่อการปรับภูมิคุ้มกัน พบว่า การเสริมผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย ในอาหารไก่ ช่วยเพิ่มการพัฒนาแอนติบอดีต่อเชื้อ พาสจูเรลลา มัลโตซิดา เลปโตสไปรา โพโมนา และ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส การใช้กระเทียมช่วยส่งเสริมการทำงานของอินเตอร์เฟอรอน อินเตอร์ลิวคิน และ tumor necrosis factors alpha ได้ รวมถึง การเพิ่มการเก็บกินของเซลล์นำเสนอแอนติเจน และมาโครฝาจ ขนาดต่อมเบอร์ซาของไก่ที่กินอาหารสัตว์ที่เสริมด้วยกระเทียมยังมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตาม ขนาดม้ามไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ การใช้ยูคาลิปตัส และเปปเปอร์มินต์ ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด และภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ในสัตว์ปีกที่ให้วัคซีนไข้หวัดนก และนิวคาสเซิล กลุ่มทดลองที่ให้น้ำมันหอมระเหยมีระดับไตเตอร์ของแอนติบอดียับยั้งฮีแมกกลูตินินต่อโรคไข้หวัดนก และโรคนิวคาสเซิล สูงกว่ากลุ่มควบคุม แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสในวัคซีนไข้หวัดนก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยการเสริมสารสกัดจากไทม์ร้อยละ ๐.๒

ภาพที่ ๔ น้ำมันหอมระเหย กระเทียมช่วยปรับภูมิคุ้มกัน และต่อต้านเชื้อบิด (Abd El-Hack  et al., 2022)

            น้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่สามารถแทรกแซงระบบเมตาโบลิซึมของเชื้อปรสิตโดยทางตรง หรือทางอ้อม สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของโฮสต์ และการต่อต้านอนุมูลอิสระ เพื่อควบคุม และกำจัดการรุกรานของเชื้อปรสิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ในการจัดการเชื้อบิด การต่อต้านเชื้อบิดโดยตรงโดยการยับยั้งไกโคโปรตีน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับโมเลกุลในเยื่อหุ้มไมโตคอนเดรีย และการยับยั้งเอนไซม์ซีสทีน โปรตีเอส เป็นต้น

            การต่อต้านเชื้อบิดโดยทางอ้อมของน้ำมันหอมระเหย โดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันของโฮสต์ และการเพิ่มฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยการเก็บเก็บอาร์โอเอส พืช เช่น หัวหอมใหญ่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa) โอริกาโน่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Origanum vulgare) กระเทียม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum) และสะระแหน่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Mentha spp.) มีประสิทธิภาพต่อต้านเชื้อบิดในลำไส้ได้

            การผลิตเนื้อไก่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้โดยการเพิ่มสัดส่วนของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมการเจริญเติบโต และลดไขมันในช่องท้องในไก่ การทดลองใช้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรชนิดต่างๆในไก่งวงที่ขนาด ๒๔ ๔๘ หรือ ๗๒ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว การกินอาหาร ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร และปริมาณซาก ที่อายุ ๒๑ และ ๔๒ วัน

            เป้าหมายของการวิจัยสูตรยาในช่วงทศวรรษล่าสุดนี้เป็นการค้นคว้าหากลกไกสำหรับนำส่งยาที่ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้สม่ำเสมอ และเป็นเวลานาน ระบบการนำส่งยามีการวิจัยกันอย่างเข้มข้น เนื่องจาก เป็นประโยชน์หลายประการเทียบกับระบบดั้งเดิม ในการวิจัยทางเภสัชกรรม คอลอยด์ มีความสำคัญอย่างมาก อนุภาคของคอลลอยด์สามารถตรวจวัดได้ในระดับนาโนเมตร และถูกเรียกเป็นอนุภาคนาโน   

ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติมีกลิ่นเข้มข้น ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก น้ำมันหอมระเหยเป็นทางเลือกใหม่สำหรับทดแทนยาปฏิชีวนะได้ การออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันหอมระเหยช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ในท่อทางเดินกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยลดเชื้อก่อโรค และรักษาสุขภาพทางเดินอาหารได้ น้ำมันหอมระเหยให้ผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม และการทำหน้าที่ของลำไส้ น้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสารประกอบที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีโครงสร้างเป็นสารประกอบอะโรมาติก และมีคุณสมบัติละลายได้ดีในไขมัน ดังนั้น จึงอาจมีข้อจำกัดบางประการสำหรับการใช้ประโยชน์ เนื่องจาก ความสามารถในการละลาย และความคงตัวต่ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปอนุภาคนาโนเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งน้ำมันหอมระเหย  

เอกสารอ้างอิง

Abd El-Hack ME, El-Saadony MT, Saad AM, Salem HM, Ashry NM, Abo Ghanima MMA, Shukry M, Swlum AA, Taha AE, El-Tahan AM, AbuQamar SF and El-Tarabily KA. 2022. Essential oils and their nanoemulsions as green alternatives to antibiotics in poultry nutrition: a comprehensive review. Poul Sci. 101: 101584.   

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *