Skip to content
Home » พรีไบโอติกในระบบการผลิตสัตว์ปีกทางเลือก

พรีไบโอติกในระบบการผลิตสัตว์ปีกทางเลือก

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

อาหารที่ผลิตด้วยแบบอินทรีย์ หรือในระบบการผลิตทางเกษตรกรรมที่เป็นวิถีธรรมชาติ กำลังได้รับความนิยมสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มด้วยเหตุผลหลายประการทั้งด้านสุขภาพ ความปลอดภัยอาหาร สวัสดิภาพสัตว์ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการผลิตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การยอมรับของสังคมต่อการผลิตสัตว์แบบอินทรีย์ด้านสุขภาพสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ ยังพิสูจน์ไม่ได้ และจำเป็นต้องมีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบมากกว่านี้ แต่สำหรับการผลิตวิถีธรรมชาติถือว่าใกล้เคียงความจริง เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยอิสระในทุ่งหญ้า นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ช่วยส่งเสริมให้การผลิตสัตว์ปีกทางเลือกกำลังเติบโต ยกตัวอย่างเช่น อาหารที่ผลิตในท้องถิ่นกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น และยังมีแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทางเลือก และผลิตจากฟาร์มใกล้บ้าน ความต้องการของสังคม และนโยบายภาครัฐ เลือกที่จะหลีกเลี่ยงยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร ยิ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากธรรมชาติ และอินทรีย์

ภาพที่ ๑ การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยอิสระในทุ่งหญ้า (Backyard poultry, 2021)

การผลิตสัตว์ปีกไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาของตลาดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามระบบอินทรีย์ และเป็นธรรมชาติ ดังนั้น ระบบการผลิตสัตว์ปีกทางเลือกจึงอุบัติใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคทั้งเนื้อ และไข่สัตว์ปีกที่ผลิตตามระบบอินทรีย์ และเป็นธรรมชาติ ระบบการเลี้ยงการจัดการเลี้ยงไก่เนื้อแบบอินทรีย์ และบนทุ่งหญ้า เป็นการผลิตสัตว์ปีกทางเลือก ฝูงไก่เนื้อที่เลี้ยงบนทุ่งหญ้าอาศัยภายนอกโรงเรือน และบางรูปแบบยังมีโรงเรือนไว้ให้ด้วยระหว่างการเลี้ยง การเลี้ยงในระบบดังกล่าวจึงมีขนาดฝูงค่อนข้างเล็ก และการจับเข้าสู่โรงฆ่าก็มีจำนวนไม่มาก หน่วยการแปรรูปเนื้อแบบเคลื่อนที่จึงได้รับการพัฒนาข้นมาด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นทั้งด้านการเงิน และข้อระเบียบต่างๆสำหรับการแปรรูปไก่เนื้อที่เลี้ยงบนทุ่งหญ้า นอกเหนือจากการผลิตไข่ไก่อินทรีย์เป็นฝูงขนาดเล็ก และการผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์ การผลิตไข่ไก่ก็ได้เปลี่ยนแปลงการจัดการไปอย่างมาก รวมถึง การนำระบบโรงเรือนกรงนกขนาดใหญ่ และการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการเลี้ยงไก่ไข่แบบขับกรง ดังนั้น จึงมีโอกาสได้รับเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้นด้วย   

ภาพที่ ๒ รถสำหรับการแปรรูปเนื้อแบบเคลื่อนที่ในสหรัฐฯที่มีบริการให้เช่าได้ (แหล่งภาพ University of California, Division of Agriculture and Natural Resources)

คำนิยามของพรีไบโอติกในฐานะของอาหาร หมายถึง องค์ประกอบของอาหารที่ไม่ถูกย่อยโดยสัตว์ เมื่อกินเข้าไป แต่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ เช่น ไบฟิโดแบคทีเรีย และ แลคโตบาซิลลัส แรกเริ่มทีเดียวก็มีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๓ ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ หรือฟอส (fructooligosaccharides, FOS) กาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ หรือกอส (galactooligosacharide, GOS) และ แมนแนน โอลิโกแซคคาไรด์ หรือมอส (mannan-oligosaccharide, MOS) ผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกเหล่านี้ มีคุณสมบัติของพรีไบโอติกได้อย่างคงเส้นคงวา ตั้งแต่ไม่ถูกย่อยโดยสัตว์ และสามารถหมักโดยเชื้อ ไบฟิโดแบคทีเรีย และ แลคโตบาซิลลัส ได้ นักวิจัยสามารถตรวจพบวิถีเมตาโบลิซึมที่จำเพาะภายในเชื้อจุลชีพดังกล่าว บ่งชี้ว่า สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งการใช้ประโยชน์ และการหมักโพลีเมอร์เหล่านี้ กรดไขมันชนิดสายสั้น (short-chain fatty acids, SCFA) ผลิตขึ้นระหว่างการหมัก
พรีไบโอติก เป็นผลมาจากสุขภาพของทางเดินอาหารที่ดีขึ้น และช่วยส่งเสริมสุขภาพสัตว์ได้ นอกจากนั้น การปรากฏของกรดไขมันชนิดสายสั้น ยังช่วยป้องกันเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษไม่ให้เพิ่มจำนวนในทางเดินอาหารของสัตว์อีกด้วย   

การผลิตสัตว์ปีกแบบปรกติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และได้ก้าวข้ามการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเติมอาหารสัตว์ หันมาใช้สารเติมอาหารสัตว์ทางเลือกที่ให้ผลใกล้เคียงกัน การปรับปรุงอาหารสัตว์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร หรืออัตราการเจริญเติบโตไก่เนื้อ และยังคงรักษาคุณภาพเนื้อสัตว์ไว้ได้เป็นประเด็นสำคัญของงานวิจัย เช่นเดียวกับองค์ประกอบของอาหารสัตว์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพแม่ไก่ไข่ตลอดวงจรการให้ไข่ที่ยาวนาน และยังคงรักษาคุณภาพของไข่ระหว่างการผลิตก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากผลผลิต และสุขภาพแล้ว การควบคุมเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในไก่เนื้อมีชีวิตระหว่างการเลี้ยง รวมถึง เมื่อจับไก่เข้าสู่โรงฆ่า แล้วแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์ปีกก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก สารเติมอาหารสัตว์ที่มีเป้าหมายต่อไมโครไบโอตาในระบบทางเดินอาหาร และป้องกันการติดเชื้อของเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ จะช่วยลดการปนเปื้อนให้น้อยลงได้ ในการผลิตไข่ไก่ ความสามารถในการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส ในแม่ไก่ไข่ที่ไวรับต่อโรคมีความสัมพันธ์กับการลดการปนเปื้อนในไข่ไก่ได้

ภาพที่ ๓ สารเติมอาหารสัตว์ที่มีเป้าหมายต่อไมโครไบโอตาในระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันการติดเชื้อของเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในการผลิตไข่ไก่ โดยเฉพาะเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส

การผลิตสัตว์ปีกอินทรีย์ หรือตามธรรมชาติในรูปแบบของการเลี้ยงปล่อยอิสระ หรือไก่เนื้อที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า กำลังเป็นสินค้าเนื้อสัตว์ปีกที่ได้รับความนิยม การจัดการสัตว์ปีกภายใต้สภาวะดังกล่าว ต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สูตรอาหารสัตว์ของสัตว์ปีกที่เลี้ยงภายใต้การผลิตอินทรีย์มีความต้องการที่จำเพาะสำหรับแหล่งวัตถุดิบที่มาจากการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ตามระบบอินทรีย์ รวมถึง ส่วนประกอบบางชนิด เช่น กรดอะมิโนที่สำคัญชนิดเมธัยโอนีน วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำมาใช้ทดแทนเมล็ดธัญพืชที่เคยนิยมใช้กันเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์แบบอินทรีย์ บางชนิดก็ไม่ได้เคยใช้กันตามปรกติ เช่น บั๊กวีต (buckwheat) ก็มีการทดลองใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์แบบอินทรีย์สำหรับไก่เนื้อ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านโภชนาการแม่นยำกำลังเป็นสิ่งท้าทายในสัตว์ปีกปล่อยอิสระ เนื่องจาก ข้อแตกต่างในข้อปฏิบัติด้านการจัดการอาหารสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะใช้สูตรอาหารสัตว์แบบสมบูรณ์ ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกปล่อยอิสระสามารถเลือกที่จะให้อาหารเป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์แยกจากกันเป็นชนิดได้ สัตว์จะเลือกจิกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ด้วยตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านโภชนาการตลอดวงจรการเลี้ยงได้ ฝูงสัตว์ปีกที่เลี้ยงบนทุ่งหญ้าสามารถเล็มต้นหญ้าได้บนพื้นที่กว้างขวาง และได้รับเส้นใยอาหารสอดคล้องกับความต้องการด้านโภชนะ ขณะที่เส้นใยอาหารสัตว์ถูกหมักโดยเชื้อจุลชีพในไส้ตันทั้งในลูกไก่ และไก่โตเต็มวัย กระบวนการหมักจะช่วยสร้างสารอาหารที่จำเป็นต้องสุขภาพที่ดีให้กับสัตว์ได้หรือไม่ยังไม่ทราบแน่ชัด       

แนวความคิดใหม่ในการเลี้ยงไก่ไข่ไม่ขังกรง อินทรีย์ เปิดโรงเรือน หรือปล่อยอิสระ ได้วิวัฒนาการไปตามลำดับเป็นระบบโรงเรือน สำหรับการผลิตไข่เชิงพาณิชย์ด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายอีกมากจากระบบการผลิตไข่ทางเลือก เช่น ต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการเลี้ยงสัตว์ปีกปล่อยอิสระเคยเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกระยะรุ่น ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย การศึกษาจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ใช้อากาศบนเปลือกไข่ และประชากรเชื้อแบคทีเรียแกรมลบจำนวนมากตรวจพบได้ตามตำแหน่งสำคัญในกรงเลี้ยงไก่ไข่ และระบบกรผลิตไข่ไก่อินทรีย์ พบว่า จุดปนเปื้อนที่สำคัญสำหรับไก่ไข่ขังกรงอยู่ที่โรงงานแปรรูปไข่ไก่ ขณะที่ การผลิตไข่ไก่อินทรีย์พบการปนเปื้อนเริ่มต้นตั้งแต่กล่องรังไข่ตามผนังด้านข้างของโรงเรือน ผลกระทบของกล่องรังไข่เป็นผลมาจากวัสดุที่ใช้บุรังไข่มีอิทธิพลต่อคุณภาพเปลือกไข่ภายนอก นักวิจัยตรวจพบปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่สูงขึ้น และคุณภาพไข่ไก่โดยภาพรวมที่ลดลงจากไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระเปรียบเทียบกับแม่ไก่ที่เลี้ยงขังกรง อย่างไรก็ตาม ไม่พบเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น แคมไพโลแบคเตอร์ สแตฟไฟโลคอคคัส ออเรียส ซัลโมเนลลา และ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส จากตัวอย่างไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และอินทรีย์ ในซูเปอร์มาร์เก็ต  อย่างไรก็ตามพบเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ระดับสูงในไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระมากกว่าอินทรีย์

ภาพที่ ๔ ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง กำลังเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ (แหล่งภาพ Big Dutchman)

ฝูงไก่เนื้อ และไก่ไข่ที่เลี้ยงบนทุ่งหญ้าสามารถเข้าถึงอาหารได้หลากหลาย โดยเฉพาะจากการแทะเล็มหญ้าในทุ่ง การใช้ประโยชน์สับสเตรตที่หลากหลายช่วยส่งเสริมไมโครไบโอตาในระบบทางเดินอาหารให้มีความสลับซับซ้อน การปรับตัวของระบบเมตาโบลิซึมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเตรียมรับแหล่งอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ยกตัวอย่างเช่น แหล่งเส้นใยอาหารที่มาจากการแทะเล็มต้นหญ้าของสัตว์ปีกเลี้ยงปล่อยอิสระ สำหรับประชากรจุลชีพตามทางเดินอาหารของสัตว์ ความจริงแล้ว เชื้อจุลชีพในไส้ตันของไก่เนื้อโตเต็มวัย และแม่ไก่ไข่ สามารถหมักเส้นใยอาหารสัตว์จากต้นหญ้าได้อยู่แล้วจากการศึกษาในห้องทดลอง หรือคุณลักษณะของไส้ตันจากการทดลองป้อนสารอาหารในตัวสัตว์ จึงเชื่อได้ว่า คล้ายคลึงกับกระบวนการหมักในไส้ตันในฝูงสัตว์ปีกที่เล็มหญ้าในทุ่ง ปฏิสัมพันธ์ของไมโครไบโอตาในไส้ตันกับปริมาณเส้นใยอาหารสัตว์ และผลต่อกระบวนการหมักเพื่อสร้างกรดไขมันสายสั้นที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อก่อโรค นับว่าเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ การเติมองค์ประกอบด้านโครงสร้าง เช่น แหล่งอาหารที่มาจากเมล็ดธัญพืชทั้งเมล็ด รำ และแหล่งเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำอื่นๆ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของกึ๋น โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพักอาหาร และการบด จึงเป็นประโยชน์ต่อสัตว์โดยการเพิ่มการทำหน้าที่ของทางเดินอาหารได้อีกด้วย

ภาพที่ ๕ ความต้องการไข่ไก่จากไก่ไข่แบบขังกรงเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ (แหล่งภาพ  Tecno Poultry Systems)

อาหารจากเมล็ดธัญพืช และองค์ประกอบบางอย่าง เช่น ส่วนรำ เป็นแหล่งสำคัญของพรีไบโอติก รำข้าว และรำข้าวสาลี ช่วยสร้างสมดุลของไมโครไบโอตาในไส้ตัน และกระบวนการเมตาโบลิซึมในไส้ตันของไก่          การเปลี่ยนแปลงของประชากร และการหมักของจุลินทรีย์ในไส้ตัน เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยลดเชื้อก่อเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น ซัลโมเนลลา ได้ อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อจุลชีพมีความจำเพาะสูง เช่น ในกรณีของรำจากข้าวบางพันธุ์เท่านั้นที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ ซัลโมเนลลา ได้ รูปแบบของไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารจะช่วยพยากรณ์ได้ว่า องค์ประกอบของรำเมล็ดธัญพืชชนิดใดบ้างที่มีฤทธิ์เป็นพรีไบโอติกได้ดี

การผลิตสัตว์ปีกแบบปล่อยอิสระ และอินทรีย์ยังคงเป็นทางเลือกที่เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้บริโภค อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกวิวัฒนาการไปข้างหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ฝูงไก่เนื้อ และไก่ไข่ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า สามารถเข้าถึงอาหารได้หลากหลาย รวมถึง การแทะเล็มหญ้า ขณะที่ อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกปรับตัวไปตามความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนา และค้นหาสารเติมอาหารสัตว์ ที่ช่วยป้องกันสุขภาพสัตว์ ลดอัตราการตาย ควบคุมเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อก่อโรคสัตว์ปีกให้ต่ำที่สุด ขณะที่ สารเติมอาหารสัตว์มีการศึกษาวิจัยหลายครั้งแล้ว พรีไบโอติกก็เป็นทางเลือกที่มีโอกาสผสมอาหารสัตว์โดยตรง เช่นเดียวกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆระหว่างการผสมอาหารสัตว์ แหล่งของพรีไบโอติกที่น่าสนใจ ได้แก่ วัตถุดิบเมล็ดพันธุ์ และพืชอาหารสัตว์ เป็นทางเลือกสำหรับการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายประการสำหรับสัตว์ปีกที่เลี้ยงปล่อยอิสระ

เอกสารอ้างอิง

Riche SC. 2021. Prebiotics and alternative poultry production. Poul Sci. 100: 101174   

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *