Skip to content
Home » สารเติมอาหารสัตว์สำหรับการผลิตไก่เนื้อปลอดยาปฏิชีวนะ

สารเติมอาหารสัตว์สำหรับการผลิตไก่เนื้อปลอดยาปฏิชีวนะ

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร .วิษณุ วรรณแสวง

            สุขภาพของระบบทางเดินอาหารที่ดีเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการผลิตไก่เนื้อ เพื่อให้การดูดซึมสารอาหารอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น สุขภาพของระบบทางเดินอาหารยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย เนื่องจาก เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันในไก่เนื้อส่วนใหญ่ก็อยู่ในลำไส้ในรูปแบบของ เนื้อเยื่อน้ำเหลืองตามระบบทางเดินอาหาร (GALT, gut associated lymphoid tissue) การรักษาสุขภาพที่ดีของระบบทางเดินอาหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อการส่งเสริมสุขภาพไก่เนื้อ การรักษาสมดุลและความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการอาหารสัตว์ จุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา และสรีรวิทยา สามารถช่วยรักษาสุขภาพของระบบทางเดินอาหารที่ดีได้ และเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการผลิตไก่เนื้อได้

ภาพที่ ๑  สี่เสาหลักค้ำจุนระบบทางเดินอาหารที่ดี ได้แก่ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายและส่งเสริมการย่อยอาหาร เสริมสร้างการทำหน้าที่ด่านคุ้มครองปราการทางเดินอาหาร สร้างความสมดุลของนิเวศวิทยาในระบบทางเดินอาหาร และส่งเสริมการป้องกันโรคตามธรรมชาติ (แหล่งภาพ van der Horst, 2020)

การจัดการด้านอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และสุขภาพสัตว์ สามารถช่วยให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่เนื้อได้โดยลดการใช้ยาต้านจุลชีพ แผนการใช้วัคซีนควรออกแบบด้วยความระมัดระวัง และให้วัคซีนอย่างถูกต้องเหมาะสม หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะก็ให้พิจารณาใช้ด้วยความรับผิดชอบตามความจำเป็น และให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาศัยผลการทดสอบความไวรับต่อยาปฏิชีวนะในห้องปฏิบัติการประกอบการพิจารณาเสมอ   

ภาพที่ ๒  ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนยาต้านจุลชีพ ต้องทำหน้าที่สำคัญ ได้แก่ ลดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และระดับของสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นภายในท่อทางเดินอาหาร เสริมสร้างความแข็งแรงเซลล์เยื่อบุลำไส้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของปราการคุ้มครองระบบทางเดินอาหาร และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ (แหล่งภาพ Xue, 2019)

  • กรดอินทรีย์

เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมใช้กันหลายทศวรรษแล้ว และพิสูจน์แล้วว่า การเติมกรดอินทรีย์อย่างเหมาะสม สามารถทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ในสัตว์ปีกที่สุขภาพดี กรดอินทรีย์สามารถทดแทนสารส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ แต่ไม่สามารถใช้รักษาสัตว์ป่วยได้ ที่สำคัญที่สุด กรดอินทรีย์ควบคุมการเจริญเติบโตของเชือ้แบคทีเรียได้ดีที่สุด เมื่อใช้เป็นแบบผสมผสานรวมกัน อย่างน้อยให้สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่ปฏิบัติกันในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์วันนี้ โดยใช้อัตราส่วนร้อยละ ๐.๑ ถึง ๐.๓ การเลือกใช้กรดชนิดใดยังคงเป็นความลับทางการค้า เสมือนสูตรอาหารพิเศษที่นักวิชาการอาหารสัตว์แต่ละคนจะชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่กรดแต่ละชนิดก็จะทำงานได้ดีที่สุดกับเชื้อจุลชีพแตกต่างกัน ยังมีงานวิจัยเพียงไม่มากที่จะหาว่า ส่วนผสมของกรดอินทรีย์แบบใดจึงเหมาะสำหับปัญหาของแต่ละฟาร์ม

สุดท้ายแล้ว กรดอินทรีย์จะทำงานได้ดีเมื่อใช้แบบผสมผสานกัน ร่วมกับการใช้กลยุทธ์อื่นๆสำหรับควบคุมนิเวศวิทยาของระบบทางเดินอาหาร เช่น ไฟโตไบโอติก แต่ก็ยังคงเป็นโจทย์วิจัยที่สำคัญในการเลือกใช้ชนิดของไฟโตไบโอติกยังมีทางเลือกไม่มากนัก

ภาพที่ ๓ การสังเกตกองมูลไก่ในโรงเรือน ช่วยตรวจสอบความผิดปรกติของสมดุลระบบทางเดินอาหารได้ตั้งแต่ระยะแรก และตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เมื่อพบกองมูลไก่ที่ผิดปรกติ (ภาพขวา) ปรากฏขึ้นในโรงเรือน ควรพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร เช่น กรดอินทรีย์ โปรไบโอติก หรือไฟโตไบโอติก เพื่อฟื้นฟูสมดุลทางเดินอาหารก่อนเกิดปัญหาที่ร้ายแรง  (แหล่งภาพ Aviagen, 2020)

  • ธาตุอาหารสัตว์ชนิด ทองแดง และสังกะสี

            ธาตุอาหารสัตว์ชนิดสังกะสี หรือ ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc oxide) ถูกเรียกใหม่ว่า “วิตามิน แซด (Z)” โดยสัตวแพทย์ ในลูกสุกรใช้ได้ผลดีมากในการหยุดยั้งอาการท้องเสียภายหลังการหย่านม   แต่ซิงค์ ออกไซด์ กลับไม่ได้ผลในไก่เนื้อเช่นเดียวกับลูกสุกร แต่ทองแดง หรือคอปเปอร์ ซัลเฟต ให้ผลได้ดี โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของสูตรอาหารสัตว์เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบัน ยังคงอนุโลมให้ใช้ได้ในขนาดที่กำหนดไว้ และราคาไม่แพง จึงสามารถใช้ได้ รูปแบบใหม่ของธาตุอาหารสัตว์ชนิดทองแดง และสังกะสี ใช้ในระดับต่ำ แต่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อผลการเลี้ยง การผลิตอาหารสัตว์ และความคงตัวของพรีมิกซ์ ในแต่ละประเทศ หรือภูมิภาคก็จะมีกฏหมาย และกฎระเบียบที่จำเพาะทั้งชนิด และระดับของผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในอาหารไก่เนื้อ แนะนำให้ขอคำปรึกษากับหน่วยงานราชการ หรือตัวแทนจำหน่าย ก่อนการใช้สารเติมอาหารสัตว์แต่ละชนิด

ภาพที่ ๔ รูปแบบใหม่ของธาตุอาหารสัตว์ชนิดทองแดง และสังกะสี ใช้ได้ในระดับต่ำ เป็นประโยชน์ต่อผลการเลี้ยง การผลิตอาหารสัตว์ และความคงตัวของพรีมิกซ์ (แหล่งภาพ Dreamstime)

วัตถุดิบอาหารสัตว์จากพืช และสัตว์ ประกอบด้วยแร่ธาตุสังกะสีอยู่แล้ว แต่มักประกอบด้วยไฟเตตที่จับกับสังกะสีไว้แน่น ทำให้ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารได้ ทำให้ปริมาณสังกะสีที่ใช้ประโยชน์ได้ในอาหารสัตว์อยู่ในระดับต่ำกว่าความต้องการให้สุขภาพสัตว์ปีกที่ดี การขาดสังกะสีเป็นสาเหตุให้สัตว์แสดงอาการเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปรกติ ขาสั้น และหนา ขนชี้ฟูผิดปรกติ   เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยจากนอตทิงแฮมเทรนต์ อ้างว่า การใช้แร่ธาตุในรูปแบบนาโนผสมอาหารสัตว์ ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของไก่เนื้อ โดยการกินอาหาร และการย่อยได้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกแข้ง โครงสร้างสำคัญสำหรับไก่เนื้อสมัยใหม่ แร่ธาตุในรูปแบบนาโนใช้เทคโนโลยีใหม่ในการใช้กรดอะมิโนขนาดจิ๋วระดับนาโนเคลือบแร่ธาตุเอาไว้ เนื่องจาก ขนาดอนุภาคที่เล็กจิ๋วของแร่ธาตุในรูปนาโนช่วยให้การกระจายตัวในร่างกายสัตว์ได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นการช่วยนำส่งเข้าสู่ร่างกาย และการเคลือบด้วยกรดอะมิโนก็ยังช่วยส่งเสริมการเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการลดสังกะสีส่วนเกินที่ขับถ่ายออกจากร่างกาย ตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ภาพที่ ๕ การใช้แร่ธาตุในรูปแบบนาโน ช่วยให้การเจริญเติบโตดีขึ้นได้โดยเพิ่มการกินอาหาร และการย่อยได้ของอาหารสัตว์ (แหล่งภาพ Hans Prinsen)

  • โปรไบโอติก

            นักวิชาการอาหารสัตว์ด้านสัตว์ปีกทั่วโลก ลงคะแนนเสียงสูงที่สุดจากการเก็บข้อมูลของ WATT ยกให้โปรไบโอติกเป็นตัวเลือกอันดับ ๑ เมื่อต้องลงทุนเงินเพื่อหาทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ แม้ว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่สามารถส่งผลร้ายต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค การใช้โปรไบโอติกเป็นการเพิ่มประชากรของเชื้อจุลชีพที่เป็นประโยชน์ โดยหวังให้เข้าไปแย่งแข่งขันการใช้สารอาหาร และพื้นที่กับเชื้อก่อโรค ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก็แตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำงานได้ดีที่สุดเมื่อผสมเป็นอาหารสัตว์ จุลินทรีย์จากโปรไบโอติกจะถูกบังคับให้เข้าไปสู่ระบบนิเวศของระบบทางเดินอาหารตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมฤทธิ์กันระหว่างเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดยังถูกมองข้ามโดยผู้ผลิตพรีไบโอติก

            ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นต้นมา พาร์คเกอร์ เริ่มใช้โปรไบโอติกเพื่อสร้างสมดุลของเชื้อจุลชีพในระบบทางเดินอาหารต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ฟูลเลอร์ เห็นว่า แนวความคิดดังกล่าวสามารถประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสัตว์ได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ลี ทดลองใช้เชื้อ บาซิลลัส ที่สร้างสปอร์ได้ เพื่อส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมในทางเดินอาหารดีขึ้น โดยลดการสร้างนิคมของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค แก่งแย่งแข่งขันในการยึดเกาะกับเยื่อเมือกผนังลำไส้ รวมถึง แย่งใช้สารอาหาร และเพิ่มการนำสารอาหารเข้าสู่เซลล์ผ่านการกระตุ้นการพัฒนาของวิลไล นอกจากนั้น เชื้อ บาซิลลัส ยังช่วยลดระดับพีเอชจากกระบวนการหมัก เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลไล ที่ยังช่วยลดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอย่าง ซัลโมเนลลา อี. โคลัย แคมไพโลแบคเตอร์ และ คลอสตริเดียม  คุณสมบัติเด่นของเชื้อ บาซิลลัส คือความทนทานต่อความร้อน และความดันสูง จึงช่วยให้เชื้อสามารถผ่านกระบวนการให้ความร้อนด้วยไอน้ำในขั้นตอนคอนดิชันเนอร์ และอัดเม็ดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้

  • กรดอะมิโนเกรดที่ใช้ผสมอาหารสัตว์

            ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค เนื่องจาก ถูกดูดซึมในลำไส้เล็กไว้ก่อนที่จะถึงแหล่งพักพิงสำคัญของระบบนิเวศของเชื้อจุลชีพในทางเดินอาหาร

            กรดอะมิโนเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาก ถูกบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับการออกแบบสูตรอาหารสัตว์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยใช้โปรตีนดิบที่ใช้กรดอะมิโนในระดับสูงกว่าปรกติ แต่สามารถลดระดับโปรตีนดิบลงได้รวมร้อยละ ๔ เป็นการลดโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคแย่งชิงโปรตีนจากแหล่งสารอาหารในทางเดินอาหาร แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต้องการโปรตีนน้อยกว่า และคาร์โบไฮเดรดมากกว่า ในบางภูมิภาคของโลก สูตรอาหารสำเร็จรูปจะใช้โปรตีนน้อยลง แต่กรดอะมิโนที่จำเป็นเพียงพอ

  • ไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร

            ไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารก็เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ แต่ควรเลือกชนิดใด นักวิชาการอาหารสัตว์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า การใช้ไฟเบอร์อาหารที่ไม่ละลายน้ำสามารถดูดซึมน้ำส่วนเกินในทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อควบคุมการไหลของอาหารในลำไส้ และควบคุมความเข้มข้นของน้ำ และไฟเบอร์ที่สามารถหมักได้ในลำไส้ส่วนล่าง สามารถช่วยควบคุมเชื้อแบคทีเรียที่ดีได้ อย่างน้อยความเห็นเหล่านี้ก็เป็นทฤษฏีด้านวิชาการอาหารสัตว์

            ยังไม่เห็นพ้องต้องกันว่า จะตรวจวัดไฟเบอร์ที่หมักได้ และไม่ละลายน้ำได้อย่างไร แม้ว่าจะมีได้หลากหลายวิธี แต่ก็ยังถือได้ว่าค่อนข้างยาก แม้กระทั่ง สถานการณ์ที่เลวร้าย ก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่สมบูรณ์ว่าควรใช้ไฟเบอร์ชนิดใด นักวิชาการอาหารสัตว์บางกลุ่มไม่ค่อยชื่นชอบคุณสมบัติของไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำด้านการระบายอาหารในท้อง บางกลุ่มยังทดลองแล้วพบว่าเกิดความผิดปรกติของระบบทางเดินอาหารส่วนท้ายได้อีกด้วย

  • เอนไซม์

            เช่นเดียวกับกรดอะมิโน ผลิตภัณฑ์กลุ่มเอนไซม์ไม่ส่งผลต่อจุลชีพในทางเดินอาหรโดยตรง แต่การใช้ในสูตรอาหารสัตว์ อัตราส่วน และขนาดหนึ่งๆ เอนไซม์สามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ได้ โดยการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรดที่ย่อยได้ยากกลายเป็นองค์ประกอบอย่างง่าย ดังนั้น จึงเป็นการเพิ่มแบคทีเรียที่ดีได้

            เอนไซม์ย่อยโปรตีน หรือโปรตีเอส ช่วยลดของเสียจากโปรตีน โดยการเพิ่มการย่อยได้ของโปรตีน ทำให้แบคทีเรียเลวขาดอาหาร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เอนไซม์จัดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดสุดท้ายสำหรับการใช้เป็นทางเลือกใหม่ทดแทนยาปฏิชีวนะ การออกฤทธิ์ได้น้อยที่สุด จะเห็นผลได้ชัดเจนเป็นบางครั้งเท่านั้น และเป็นการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆเสมอ

            โดยสรุปแล้ว พัฒนาการด้านการผลิตสัตว์ปีกยังถือว่าเป็นเพียงก้าวเริ่มต้นเท่านั้น ยังเป็นการยากที่จะคาดหวังผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งทดแทนการใช้ยาปฏิชีวะได้ วิธีการที่ดีที่สุดเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ร่วมกัน แล้วปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนยาปฏิชีวนะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูง และค่าใช้จ่ายที่แพงก็เป็นการยากที่จะถ่ายภาระไปให้กับผู้บริโภคได้ ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ผลิตยังคงต้องทำสิ่งที่สามารถทำได้ ถึงเวลานี้จะมีทางเลือกหลากหลายวิธีแล้ว แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดเสมอ และรอคอยการทดสอบต่อไป

ภาพที่ ๖ การเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพจะพุ่งสูงเป็นอันดับ ๑ ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ หรืออีกสามสิบปีข้างหน้า (แหล่งภาพ Maurin, 2019)

เอกสารอ้างอิง

Bailey R. 2018. Maintaining gut health without antibiotics. [Internet]. [Cited 2018 Dec 17]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Partner/2018/12/Maintaining-gut-health-without-antibiotics-372925E/?dossier=40355&widgetid=0

Mavromichalis I. 2020. 6 most important feed additives for ABF broiler production. Poultry International. September 2020. 38-41.

van der Horst Y. 2020. Synergistic feed additive strategy to reduce antimicrobials. [Internet]. [Cited 2020 Oct 6]. Available from: https://www.poultryworld.net/Nutrition/Articles/2020/10/Synergistic-feed-additive-strategy-to-reduce-antimicrobials-650795E/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *