Skip to content
Home » ไขสันหลังอักเสบ โรคใหม่ที่เป็นสาเหตุปัญหาขาพิการในไก่เนื้อ

ไขสันหลังอักเสบ โรคใหม่ที่เป็นสาเหตุปัญหาขาพิการในไก่เนื้อ

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

การติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกสันหลังส่วนอกที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ เรียกว่า กระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔ หรือที ๔ จนกดทับบริเวณไขสันหลัง เนื่องจาก เกิดความเสียหายของตัวกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในฝูงไก่พันธุ์สายพันธุ์เนื้อ อายุระหว่าง ๖ ถึง ๑๐ สัปดาห์ พ่อไก่ในฝูงไก่พันธุ์ที่ประสบปัญหาแสดงอาการขาพิการ แต่ไม่พบรอยโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกติของข้อขา หรือเส้นเอ็นให้เห็น ไก่ป่วยก็มักถูกคัดทิ้ง หรือตายไปเอง เนื่องจาก ภาวะขาดน้ำ

 รายงานสัตว์ป่วยโดย Dr. Tahseen Aziz และ John Barnes ในไก่พันธุ์ (สายพันธุ์เนื้อ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นับเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานสัตว์ป่วยจากไขสันหลังอักเสบในแถบอเมริกาเหนือในสัตว์ปีก และเป็นรายงานครั้งแรกในไก่พันธุ์ (สายพันธุ์เนื้อ) เพศผู้ที่มีการเผยแพร่ตีพิมพ์พบว่า ไก่เพศผู้ราวร้อยละ ๕ ถูกคัดทิ้งที่อายุระหว่าง ๖ ถึง ๑๐ สัปดาห์ เนื่องจากปัญหาขาพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ ไก่ป่วยนั่งบนข้อเท้า และหาง โดยเท้า และแข้งยกขึ้นจากพื้นเล็กน้อย บางตัวไม่สามารถทรงตัวยืนขึ้นได้ แต่ตะแคงด้านข้างลง และขายืดออกไปทางด้านข้างตัว หลังของไก่ป่วยสังเกตได้ว่าโก่งอย่างชัดเจน โดยสามารถคลำตรวจสอบได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ก็ยังรายงานสัตว์ป่วยลักษณะเดียวกันในไก่เนื้อ และให้ความเห็นว่า เป็นโรคอุบัติใหม่ที่สร้างความเสียหายจากปัญหาขาพิการในการผลิตไก่เนื้อ

ภาพที่ ๑ ไก่เนื้ออายุ ๔๔ ถึง ๕๘ วัน แสดงอาการขาอ่อนแรง เนื่องจากไขสันหลังอักเสบ และเกิดความเสียหายของไขสันหลังอย่างรุนแรง ไก่ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำขาเหยียดกาง ไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือด้านข้าง เมื่อมองจากด้านบนจะสังเกตเห็นเท้าไก่พยายามยกขึ้นจากพื้น (Aziz and Barnes, 2010)

การผ่าชันสูตรโรค สังเกตเห็น กระดูกนูนขึ้นอย่างผิดปรกติ (Bony swelling) ที่กระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔ บางตัวสังเกตเห็นการจัดวางของกระดูกซี่โครงไม่สม่ำเสมอตามปรกติ เมื่อดึงเนื้อปอดออกจากช่องหน้าอก เนื้อเยื่อบางส่วนของปอดจะยังคงถูกยึดเกาะกับรอยโรคที่บริเวณกระดูกสันหลัง เมื่อค่อยๆตัดตามแนวยาวกระดูกสันหลังท่อนดังกล่าว สังเกตเห็น บริเวณเนื้อตายอย่างรุนแรงที่อัดแน่นไปด้วยก้อนหนองแข็งตามตัวกระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔ และบริเวณใกล้เคียงตามกระดูกโนทาเรียม และซินซาครัม  รอยโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ท่อนกระดูกสันหลังผิดรูป และกดลงบนไขสันหลัง ความเสียหายของเนื้อเยื่อกระดูกที่ตัวกระดูกสันหลังเป็นสาเหตุทำให้เห็นเป็นลักษณะหลังค่อมเรียกว่า ไคโฟซิส (Kyphosis) แล้วกดทับไขสันหลัง ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาทระหว่างสมองกับส่วนต่างๆของร่างกาย โดยกระแสประสาทถูกส่งผ่านไขสันหลังทั้งกระแสประสาทเข้าและออกจากสมอง รวมถึงกระแสประสาทที่ส่งเข้ามายังไขสันหลังโดยตรง แต่ไม่พบรอยโรคที่ข้อต่อ หรือกระดูก แต่อย่างใด มีเพียงการอักเสบของไขสันหลัง เรียกว่า สปอนไดไลติส (Spondylitis) ที่ส่วนกระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔    

ในไก่เนื้อ ปัญหามักปรากฏขึ้นชัดเจนที่อายุระหว่าง ๓๐ ถึง ๔๐ วัน โดยมีอัตราการป่วยสูงมาก ทำให้การคัดทิ้งในฟาร์มสูงอย่างผิดปรกติ ตามรายงานสัตว์ป่วยในฟาร์มไก่เนื้อเกือบทั้งหมดพบในไก่เพศผู้ ทำให้น้ำหนักซากที่โรงเชือดน้อยลง และอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารแย่ลง หรือเอฟซีอาร์เพิ่มสูงขึ้น

สัตว์ป่วยที่ส่งมายังห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ แสดงอาการขาเป็นอัมพาต นอนคว่ำตัวลง ขาเหยียดกาง ไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือเหยียดไปด้านข้างอย่างรุนแรง เมื่อมองจากด้านบนจะสังเกตเห็นเท้าไก่พยายามยกขึ้นจากพื้น   การผ่าชันสูตรโรค สังเกตเห็น พื้นผิวด้านล่างของกระดูกสันหลังขยายใหญ่แข็งที่บริเวณระดับข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนอก เมื่อตัดตามแนวยาวผ่านตัวกระดูกสันหลังเผยให้เห็นเศษเนื้อตายเต็มโพรงในตัวกระดูกสันหลังที่เกิดรอยโรค เนื่องจากความเสียหายข้างต้นทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป และกดลงไปบนไขสันหลังเป็นสาเหตุให้ไก่แสดงอาการขาอ่อนแรง และอัมพาตในที่สุด 

ภาพที่ ๒ รอยโรคทางพยาธิวิทยา จากภาพตัดตามยาวแนวกระดูกสันหลังไก่เนื้ออายุ ๕๘ วัน สังเกตเห็นโพรงภายในตัวของกระดูกสันหลังส่วนอกที่ผิดรูปจากปรกติ (ลูกศรชี้) ภายในอัดแน่นไปด้วยเศษเนื้อตาย และหนองจากการอักเสบกดทับไขสันหลัง (SC)  (Aziz and Barnes, 2010)

รอยโรคที่กระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔  ประกอบก้วย เนื้อตายอย่างรุนแรง และหนองแข็งจากการอักเสบของกระดูก และกระดูกอ่อน ภายในตำแหน่งที่เกิดรอยโรคอาจพบโคโลนีของเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากปรากฏที่กระดูกอ่อน และกระดูก โดยพบเชื้อแบคทีเรียเป็นรูปกลมแกรมบวกที่รอยโรค ไขสันหลังส่วนที่ถูกกดไว้มักสังเกตเห็นรอยโรคสำคัญจากความเสียหายของเส้นประสาทส่วนแอ๊กซอน และการสูญเสียปลอกหุ้มเส้นประสาท เนื้อตายของเซลล์ประสาท ไกลโอซิส และบางครั้งพบหย่อมเลือดออกขนาดเล็กได้ (ภาพที่ ๓) การเพาะเชื้อจากตัวอย่างสำลีป้ายเชื้อที่ตำแหน่งรอยโรค พบเชื้อแบคทีเรีย เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม จากการวินิจฉัยยืนยันด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ระดับจีโนม

ภาพที่ ๓ รอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาของกระดูกสันหลังส่วนอกไก่เนื้ออายุ ๔จ วัน สังเกตช่องว่างในตัวกระดูกของตัวกระดูกสันหลังเต็มไปด้วยเศษเนื้อตายจากการอักเสบ กระดูกสันหลังมีลักษณะผิดรูป และกดทับไขสันหลัง (SC) สังเกตเห็นโคโลนีของเชื้อแบคทีเรียเป็นกลุ่มจุดขนาดเล็กสีม่วงจำนวนมากมายภายในรอยโรค แต่กำลังขยายในภาพอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก (Aziz and Barnes, 2010)

แม้ว่า เชื้อ สแตฟไฟโลคอคคัส ออเรียส และ เอสเชอริเชีย โคลัย จะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนักที่พบได้บ่อยจากรอยโรคที่กระดูกสันหลัง รวมถึง การอักเสบของข้อต่อ (Arthritis) และการอักเสบของกระดูก และไขสันหลัง (Osteomyelitis) เชื้อจุลินทรีย์โดยทั่วไปมีแหล่งอาศัยตามไส้ตันของสัตว์ปีก ไก่พันธุ์เพศผู้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บระดับเล็กน้อยได้ง่ายเกิดเป็นรอยแตกตัวกระดูกสันหลังเพียงเล็กน้อยก็เป็นโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปติดเชื้อ โดยเฉพาะ เชื้อแบคทีเรียอย่าง เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดระดับต่ำ ก่อนจะแพร่กระจายไปยังตำแหน่งที่เกิดรอยแตกขนาดเล็กดังกล่าวจนเกิดเป็นรอยโรคไขสันหลังอักเสบปรากฏให้เห็นได้ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้สังเกตอาการของไก่ป่วยที่ประสบปัญหาขาอ่อนแรง จนถึงขาพิการ หรืออาการอัมพาตของขา โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตรวจสอบอย่างรอบคอบตามกระดูกสันหลัง และไขสันหลังไว้ด้วย นอกเหนือจากลักษณะทั่วไปที่พบได้บ่อยอย่างข้อต่อต่างๆเกิดการอักเสบ เส้นเอ็น และน้ำในข้อต่ออักเสบ การฉีกขาดของเส้นเอ็น กระดูกและไขสันหลังอักเสบที่ขา ความเป็นพิษของยากันบิดกลุ่มไอโอโนฟอร์ และความผิดปรกติของกล้ามเนื้อขา สัตว์ปีกที่เกิดความเสียหายของกระดูกสันหลัง และไขสันหลังมักมีลักษณะท่าทางที่ผิดปรกติเป็นเอกลักษณ์ทั้งไก่พันธุ์ และไก่เนื้อ มีชื่อเรียกทางพยาธิวิทยาว่า กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (Spondylolithesis) หรือคิ้งกี้แบค (Kinky back) จากรายงานสัตว์ป่วย สังเกตว่า พบได้บ่อยในเพศผู้ และอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกหลายพันธุ์ น้ำหนักที่สูงกว่าปรกติในเพศผู้ (ภาพที่ ๔) ทำให้สัตวจำเป็นต้องแบกน้ำหนักมากขึ้นสำหรับค้ำจุนกระดูก และข้อต่อ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้อย่างมาก อิทธิพลของน้ำหนักที่สูง เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของการเลี้ยงไก่เนื้อสมัยใหม่เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการปรากฏปัญหาโรคบีซีโอ (Bacterial chondronecrosis with osteomyelitis, BCO) ตามที่ Wideman และ Prisby (2013) รายงานโรคไว้อย่างละเอียด

ภาพที่ ๔ อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (กรัม) ไก่เนื้อเพศผู้ และเมีย อายุ ๗ ถึง ๖๓ วัน   (Braga et al., 2018)

            ไขสันหลังอักเสบที่กล่าวมาข้างต้นอาจเรียกขานกันแตกต่างกันไป ในบราซิลมีบทความวิชาการอ้างถึงโรคนี้เป็น “โรคกระดูกและไขสันหลังอักเสบ (Vertebral osteomyelitis, VO)” โดยบรรยายลักษณะปัญหาที่พบในไก่เนื้อคล้ายคลึงกันที่กระดูกสันหลังส่วนอกท่อนที่ ๔ หรือที ๔ (ภาพที่ ๕) แล้วกดทับไขสันหลังจนเกิดความบกพร่องในการเคลื่อนที่ ไม่ได้รับอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ และอัตราการตายที่สูงขึ้น โดยอ้างว่า เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด  โดยทั่วไป ไก่เนื้อมักเกิดโรคอายุมากกว่า ๓๐ วัน และการระบาดของโรคตามที่เคยมีรายงานสัตว์ป่วยก่อนหน้านี้ มักอยู่ระหว่าง ๓ ถึง ๓๘ สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ระยะหลังมีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ปีกที่อายุน้อยลงต่ำกว่า ๑๕ วัน

ภาพที่ ๕ ลักษณะกระดูกสันหลังในไก่ (กัลลัส กัลลัส) สังเกตกระดูกสันหลังส่วนโปร่ง (Pneumatic vertebrae) แรงเงาเป็นสีเทา (แผนภาพด้านบน) หรือสีดำ (แผนภาพด้านล่าง) กระดูกสันหลังของสัตว์ปีกมีลักษณะโปร่งตามตำแหน่งของถุงลมที่ส่งผ่านเข้าไปโดยถุงลมส่วนคอ (Cervical air sac) และถุงลมส่วนท้อง และปอด (Braga et al., 2018)

ปัจจัยโน้มนำยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม สภาวะการกดภูมิคุ้มกัน และสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรค การกดภูมิคุ้มกันด้วยเหตุใดๆก็ตามสามารถเป็นปัจจัยโน้มนำตามธรรมชาติที่ทำให้เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ฉวยโอกาสติดเชื้อเข้าสู่ไก่ได้ เนื่องจาก เชื้อชนิดนี้พบได้เป็นปรกติในระบบทางเดินอาหารของไก่

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา นักวิจัยพบว่า เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม  สามารถพบได้บ่อยที่สุดจากรายงานการระบาดของโรคกระดูก ไขสันหลัง และข้อต่อติดเชื้อทั้งที่ส่วนกระดูกสันหลัง และส่วนขาในไก่เนื้อ และไก่พันธุ์ (สายพันธุ์เนื้อ)

เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส สปป. เป็นเชื้อแบคทีเรีย รูปร่างกลม ชนิดแกรมบวก พบได้เป็นเซลล์เดี่ยว หรือคู่ หรือต่อกันเป็นสาย  ไม่เคลื่อนที่ ไม่สร้างสปอร์ อยู่ได้ทั้งในสภาวะใช้อากาศ และไม่ใช้อากาศ (ภาพที่ ๖) สำหรับเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส สปป. พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ โดยเฉพาะ ในสัตว์ปีก นับเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศวิทยาในลำไส้ของไก่ปรกติ และพบได้เสมอในสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงสัตว์ปีก ความถี่ของเชื้อแต่ละชนิดที่แยกได้จากลำไส้ของไก่ปรกติขึ้นกับอายุของสัตว์ แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่พบได้บ่อย ได้แก่ อี. ฟีเซียม อี. ซีโครัม อี. ฟีคัลลิส อี. ไฮเร และ อี. ดูแรนส์ เป็นตัวอย่างของชื้อที่พบได้เป็นประจำอย่างน้อยช่วงใดช่วงหนึ่งของกลุ่มอายุ (วันแรก ๓ ถึง ๔ สัปดาห์ และมากกว่า ๑๒ สัปดาห์ ชนิดของเชื้อเหล่านี้เคยเป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการผลิตไก่เนื้อส่งออกไปยังญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑  กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ตรวจพบ เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin Resistance Enterococci, VRE) ในไก่แช่เข็งที่นำเข้าจากประเทศไทย ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ โดยคาดว่าอาจจะเกิดจากการไช้สารเร่งการเจริญเติบโตในอดีต เชื้อกลุ่ม เอนเทอโรคอคไค เป็นโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล (Nosocomial infection) ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เมื่อเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่อ่อนแอ และได้รับเชื้อจากโรงพยาบาล เช่น คนชรา ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ฟอกไต หรือภายหลังการผ่าตัดสำคัญ

ภาพที่ ๖  เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม บนอาหารเลี้ยงเชื้อชนิด Blood agar สังเกต โคโลนีเดี่ยว และการย่อยเม็ดเลือดแดงแบบ beta hemolysis เป็นโซนสีเขียว

เชื้อ อี. ซีโครัม แยกได้ในฟาร์มไก่เนื้อ จากรอยโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เนื้อตายที่หัวกระดูกต้นขา กระดูกและไขสันหลังอักเสบ โดยการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดของสัตว์ แล้วแพร่กระจายทั่วไปเป็นขั้นตอนสำคัญของพยาธิกำเนิดในการติดเชื้อจากแบคทีเรียในไก่เนื้อ

เอกสารอ้างอิง

Aziz T and Barnes HJ. 2007. Is spondylitis and emerging disease? World Poultry. 23(12): 14-15.

Aziz T and Barnes HJ. 2010. Spondylitis is emerging in broilers. [Internet]. [Cited 2020 May 19]. Available from: https://www.poultryworld.net/Breeders/General/2010/5/Spondylitis-is-emerging-in-broilers-WP007472W/

Braga JFV, Martins NRS and Ecco R. 2018. Vertebral osteomyelitis in broilers: a review. Braz J Poul Sci. 20(3): 605-616.

Dinev I. Pathomorphological investigations on the incidence of clinical spondylolisthesis (kinky back) in differenct commercial broiler strains. Rev Med Vet. 163(11): 511-515.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *