โรคโควิด ๑๙ ควรเรียกได้ว่า เป็นสัญญาณเตือนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกให้คิดใหม่ และตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุมโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ สับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีโอกาสระบาดในมนุษย์ และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการผลิตสัตว์ปีก ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านม เชื้อไวรัสชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และหลายส่วนของยุโรป อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกโลก ความจำเป็นที่สุดเป็นการทบทวนห่วงโซ่การผลิต และการตลาด โดยเฉพาะ ในประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ ที่โครงสร้างของการผลิตสัตว์ปีกเอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายโรค โดยเฉพาะ การจัดการตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต การใช้วัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาด ร่วมกับ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และการบริหารความหนาแน่นของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก มีความสำคัญมากสำหรับการควบคุมการระบาดของโรคนี้ มิฉะนั้น โรคนี้อาจกลายเป็นโรคติดต่อสู่คนที่สร้างความสูญเสียทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมเช่นเดียวกับโรคโควิด ๑๙ ถึงเวลานั้น สำนึกบาปนั้นจะตกกับผู้ผลิตสัตว์ปีกในที่สุด
คณะผู้วิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ นำโดยเดวิด สเวน นักไวรัสวิทยาชื่อดังของโลกให้ลองจินตนาการว่า ปัจจุบัน การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ไม่ได้เกิดจากโคโรนาไวรัส แต่มาจากเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ ถึงเวลานั้น ผู้ที่สูญเสียคนรักทั้งญาติสนิทมิตรสหายจากโรคระบาด นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ คิดไปเองของนักไวรัสวิทยา ความจริงแล้วเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดเอ สับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ นี้กำเนิดขึ้นในเอเชีย และหมุนเวียนในสัตว์ปีกเป็นสายพันธุ์ยูเรเชียน วาย ๒๘๐/จี และจี ๑ (Y280/G9 และ G1 Eurasian lineages) ระบาดไปทั่วทั้งเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และหลายส่วนของยุโรปมาเป็นเวลานานกว่ายี่สิบปีแล้ว
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไทป์ เอ เป็นสมาชิกของแฟมิลี ออร์โธมิกโซวิริดี และประกอบด้วยจีโนมชนิด อาร์เอ็นเอ ประจุลบ สำหรับสังเคราะห์โปรตีนหลัก ๑๐ ชนิด และโปรตีนอื่นๆ อีกหลายชนิด การจำแนกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไทป์ เอ เป็นผลมาจากการผสมผสานกันของโปรตีนที่ผิวอนุภาคของเชื้อไวรัส ได้แก่ ฮีแมกกลูตินิน (เอชเอ) และนิวรามินิเดส (เอ็นเอ) ให้เป็นสับไทป์ต่างๆมากมาย เช่น สับไทป์ เอช ๑ เอ็น ๑ สับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๖ หรือสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ เป็นต้น เชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ (low pathogenicity avian influenza viruses, LPAIs) มีลักษณะสำคัญคือ การก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยในไก่ จากการประเมินด้วยการทดสอบค่าดัชนีการก่อโรคด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ (IVPI) และบริเวณของการตัดย่อยประกอบด้วย กรดอะมิโนชนิดเบส จำนวน ๑, ๒ หรือ ๓ เท่านั้น จึงทำให้การตัดย่อยโปรตีนฮีแมกกลูตินินโดยเอนไซม์โปรตีเอสที่มีคุณสมบัติคล้ายกับทริปซินมีอยู่เฉพาะบางแห่ง จึงส่งผลให้พบเชื้อไวรัสได้ตามทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจเท่านั้น เชื้อไวรัสสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ ที่พบได้ทั่วโลกในนกป่า และเป็นเชื้อประจำถิ่นในสัตว์ปีกหลายพื้นที่ในภูมิภาคยูเรเชีย และแอฟริกา เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสสับไทป์ เอช ๕ และเอช ๗ เชื้อไวรัสสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ มักถูกมองข้ามไปเสมอ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านการระบาดล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้มีโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจาก ตัวเชื้อไวรัสเอง หรือการเป็นผู้ให้จีนกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆที่ง่ายต่อการระบาดต่อไป
ภาพที่ ๑ อนุภาคของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ภายใต้กล้องจุลทรรศอิเล็กตรอน (แหล่งภาพ Cybercobra)

ประวัติความเป็นมาของเชื้อไวรัสสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ ในสัตว์ปีก
เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ พบครั้งแรกในไก่งวงในสหรัฐฯ ที่รัฐวิสคอนซินในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ในอีกสิบปีต่อมา เชื้อไวรัสแยกพบได้เป็นครั้งคราวในสัตว์ปีกทางตอนเหนือของสหรัฐฯ และจากนกป่า และฟาร์มเป็ดทั่วภูมิภาคยูโรเอเชีย ในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เชื้อไวรัสแยกพบครั้งแรกจากไก่ในจีน และอีกหลายสิบปีต่อมายังพบเชื้อไวรัสที่มีต้นกำเนิดจากจีนเป็นเชื้อประจำถิ่นทั่วทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ และตะวันตก
เชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ มักพบระบาดในสัตว์ปีกร่วมกับสับไทป์อื่นๆ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ และ เอช ๗ มีหลักฐานแสดงเห็นว่า ก่อนการติดเชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ สามารถบดบังอัตราการตายที่สูง เนื่องจาก การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงที่แพร่เข้ามาอย่างเงียบๆ ดังนั้น การเฝ้าระวังโรค และควบคุมโรคจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ไฟโลจีโอกราฟีของเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒
ไฟโลจีโอกราฟีของเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ สามารถแยกได้เป็น ๒ สายหลักที่สำคัญ ได้แก่ สายยูราเชียน และสายอเมริกัน เชื้อไวรัสเชื้อไวรัสสายอเมริกัน พบได้บ่อยที่สุดในนกป่า แต่มีรายงานการติดเชื้อในฟาร์มไก่งวง ในทางตรงกันข้าม เชื้อไวรัสสายยูราเชียน มีอย่างน้อย ๓ สายในสัตว์ปีก ตั้งชื่อเป็นเชื้อไวรัสโปรโตไทป์ ได้แก่ A/quail/Hong Kong/G1/1997, A/chicken/Beijing/1/94 และ A/chicken/Hong Kong/Y439/1997 ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ จี ๑ (G1), บีเจ ๙๔ (BJ94) (ยังเป็นที่รู้จักกันในอีกหลายชื่อ เช่น วาย ๒๘๐ หรือจี ๙) และ วาย ๔๓๙ (บางครั้งเรียกว่า สายเชื้อเกาหลี นอกจากนั้น สายเชื้อ จี ๑ ยังแตกออกเป็น ๒ ไฟโลเจเนติก และสายเชื้อย่อยตามภูมิประเทศเป็นสายเชื้อย่อยตะวันตก และตะวันออก
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ เช่น เอช ๙ เอ็น ๒ ในทั่วโลก ยังประสบปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เนื่องจาก โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำ สับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ เป็นเชื้อก่อโรคที่ไม่ต้องรายงาน และติดเชื้อสู่มนุษย์ได้ค่อนข้างน้อย ในภูมิภาคที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร การเฝ้าระวังโรคมีโอกาสทำได้ค่อนข้างน้อย หรือแทบไม่ได้เลย เชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ พบได้ หรือเป็นเชื้อประจำถิ่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศรายได้ต่ำ และปานกลางในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัสที่ปรับตัวเข้ากับสัตว์ปีกแล้วแพร่เชื้อได้เป็นระยะทางไม่ไกล ดังนั้น การแยกเชื้อไวรัสในยูกันดาบริเวณแอฟริกาตะวันตก มีความสัมพันธ์กับเชื้อไวรัสที่แยกได้จากคาบสมุทรอาหรับ ที่ห่างไกลออกไป ๒๐๐๐ กิโลเมตร เชื่อว่า ประเทศที่อยู่ระหว่างระยะทางดังกล่าวก็ประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ ที่มีวิวัฒนาการอยู่ระหว่างเชื้อไวรัสจากทั้งสองพื้นที่
ภาพที่ ๒ การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ สายพันธุ์ต่างๆ ประเทศที่พบเฉพาะสายเชื้อ BJ94 แสดงเป็นสีแดง ขณะที่ ประเทศที่พบเฉพาะสายเชื้อ G1-W แสดงเป็นสีฟ้า ประเทศที่พบร่วมกันระหว่างสายเชื้อ BJ94 และสายเชื้อย่อย G1-E แสดงเป็นสีส้ม ประเทศที่พบร่วมกันระหว่างสายเชื้อ BJ94 และ G1-W แสดงเป็นสีม่วง ประเทศที่พบเฉพาะสายเชื้อ Y439 แสดงเป็นสีชมพู ขณะที่ ประเทศที่ไม่พบเชื้อสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ แต่ไม่ทราบสายเชื้อแสดงเป็นสีเทา (แหล่งภาพ Peacock et al., 2019)

สถานการณ์ในเอเชีย และตะวันออกเฉียงใต้
เชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ เป็นโรคประจำถิ่นในจีน เวียดนาม และเกาหลีใต้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แยกเชื้อได้เป็นครั้งแรกในกัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตะวันออกไกลของรัสเซีย และหลักฐานทางซีโรโลยี บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสอาจพบได้ในสัตว์ปีกในลาว และไทย โดยสายเชื้อบีเจ ๙๔ พบได้ทั่วไปทั้งจีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และอินโดนีเซีย ขณะที่ สายเชื้อจี ๑ สายเชื้อย่อยตะวันออก พบได้ในจีนตอนใต้ เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนใหญ่ติดเชื้อในนกกระทา สายเชื้อวาย ๔๓๙ พบได้ในนกป่า และนานๆครั้งในสัตว์ปีกทั่วทั้งยูเรเชีย แต่แยกจากสายเชื้อย่อยที่ปรับตัวเข้ากับสัตว์ปีก แล้วระบาดเป็นเชื้อประจำถิ่นในสัตว์ปีกในเกาหลีใต้ การให้วัคซีนนิยมใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อพยายามควบคุมโรคประจำถิ่นในจีน และเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเอเชียใต้ เชื้อไวรัสเอช ๙ เอ็น ๒ ก็เป็นโรคประจำถิ่นที่พบได้ในบังคลาเทศ และปากีสถาน และเชื่อว่าพบได้เป็นประจำในบางพื้นที่ของอินเดีย อัฟกานิสถาน และเนปาล โดยเกิดจากเชื้อไวรัสสายเชื้อจี ๑ สายเชื้อย่อยตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวาย ๔๓๙ เป็นบางส่วนในสัตว์ปีกป่าที่แพร่เชื้อให้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก
อุตสาหกรรมสัตว์ปีกพยายามควบคุมโรคดีพอแล้วหรือยัง?
คำถามนี้ดูเหมือนจะสรุปว่า การระบาดของโรคไข้หวัดนกสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ ที่ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า จำเป็นต้องยกเครื่องระบบการผลิต การจำหน่ายสินค้า และระบบการป้องกันโรค โดยเฉพาะไม่ใช่ในประเทศรายได้ต่ำ และปานกลางเท่านั้น การขยายตัวของการผลิตสัตว์ปีก และระบบการตลาด ได้สร้างโอกาสมากมายที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ และเพิ่มการเข้าถึงโปรตีนที่มีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม ความพยายามเพิ่มผลผลิต โดยไม่มีมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสมตลอดระบบการผลิต รวมถึง การจำหน่ายสินค้า ได้ก่อให้เกิดระบบที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อสับไทป์ เอช ๙ เอ็น ๒ และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อื่นๆ รวมถึง โรคสัตว์ปีกอีกหลายโรค การผลิตสัตว์ปีกในประเทศรายได้ต่ำ และปานกลาง ไม่สามารถสร้างมาตรฐานขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับองค์การสุขภาพสัตว์โลก และโคเด็กซ์ การระบาดของโรคไข้หวัดนกสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ แสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องมากมายของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มไก่ไข่ ที่เอื้ออำนวยให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ม และติดเชื้อเข้าสู่สัตว์ปีก เราทราบดีแล้ว่า ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และการจัดการสุขภาพสัตว์ มีประสิทธิภาพจริงในหลายประเทศที่เชื้อไวรัสไม่ได้ระบาด และฟาร์มที่มีระบบการจัดการที่ดียังปลอดจากการติดเชื้อ แม้จะอยู่ภายในประเทศที่เกิดการระบาดทั่วไป
ปัญหาการควบคุมโรคสัตว์นอกจากโรคไข้หวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ ในสัตว์ปีก
เราเฉยชาต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช ๙ เอ็น ๒ ไปสู่มนุษย์ เพราะเข้าใจกันไปเองว่า ยากที่จะเชื้อไวรัสนี้จะติดต่อสู่มนุษย์จนถึงกับเสียชีวิต ทั้งนี้เชื้อไวรัสที่มีความสามารถในการรีแอสซอร์ตเมนต์ และการกลายพันธุ์ ควรตระหนักไว้เสมอว่า เชื้อไวรัสเหล่านี้มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์กลายเป็นเชื้อที่ระบาดไปทั่วเหมือนกับโรคโควิด ๑๙ ได้เสมอ เราปล่อยให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดทั่วไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในอินโดนีเซีย เมียนมา ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ รายงานการสอบย้อนกลับโรคทางระบาดวิทยา แสดงให้เห็นว่า การป้องกันโรคระหว่างพรมแดนประเทศต่างๆยังมีข้อบกพร่องอย่างมาก ไม่ได้เฉพาะโรคสัตว์ปีกเท่านั้น การแพร่กระจายของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา โรคลัมปีสกิน และโรคไข้เลือดออกในกระต่าย โรคท้องร่วงติดต่อในสุกรหรือพีอีดี ยังคงแพร่กระจายโรคอย่างต่อเนื่อง วิวัฒนาการของโรคปากและเท้าป่วย ล้วนแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการจัดการโรคระหว่างประเทศ
ภาพที่ ๓ ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตเป็นแหล่งสำคัญในการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนก (แหล่งภาพ Flickr CC.)

หลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช ๙ เอ็น ๒ สามารถแอบแฝงในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต และในบางแห่งกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น แม้ว่าจะกำหนดมาตรการไว้สำหรับลดความเสี่ยงแล้วก็ตาม การให้วัคซีนป้องกันโรคก็ควรถูกตั้งคำถาม เนื่องจาก ผู้เลี้ยงสัตว์ใช้เพื่อลดความเสียหายจากโรค แต่ไม่ได้สนใจว่าวัคซีนจะสามารถลดการขับเชื้อไวรัสได้ด้วยหรือไม่ หรือไม่ก็ละเลยมาตรการป้องกันโรคอื่นๆไปเลย ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่พบแล้วในหลายแห่งคือ การให้วัคซีนยิ่งเร่งรัดให้เชื้อไวรัสเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
ภาพที่ ๔ การเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสโดยวิธีการป้ายเชื้อที่ปากและคอหอย (oropharyngeal swab)

หนทางข้างหน้า
แล้วเราต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกกลายเป็นคนบาป คำตอบที่ไม่ต้องคิดเลยคือ เราต้องเพิ่มมาตรการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และการจำหน่ายสินค้า การใช้เงินลงไปก็ไม่มากมาย เปรียบเทียบกับมาตรการด้านเทคนิค และการเงินมหาศาลสำหรับควบคุมโรคไข้หวัดนกสับไทป์เอช ๕ ไม่ว่าจะเป็นเอ็นอะไรก็ตาม หากการเพิ่มความมั่งคั่งในใจกลางเมืองใหญ่ยังคงดำเนินต่อไป แรงกดดันจากผู้บริโภคในเมืองที่มีความซับซ้อน ร่วมกับกฎระเบียบที่บังคับจากเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง จะช่วยให้ปรับระบบการผลิตให้เกิดความปลอดภัย สามารถสอบย้อนกลับจากฟาร์มไปถึงสินค้าได้ เพื่อให้นำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเหล่านี้ได้ เกษตรกรจำเป็นต้องผลิตสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และสุขอนามัยที่ดีให้ได้ โดยควรร่วมกับการปิดตลาดจำหน่ายสัตว์ปีกมีชีวิตส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดลงให้ได้ แล้วแทนที่ด้วยสถานประกอบการฆ่าสัตว์ปีก ดังที่ปรากฏในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ตลาดจำหน่ายสัตว์ปีกมีชีวิตที่ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ตลาดของตนเองให้ได้
เขตปกครองตนเองฮ่องกงนำมาตรการควบคุมโรคสำหรับ เอช ๕ ไม่ว่าจะเอ็นอะไรก็ตาม และเอช ๘ เอ็น ๙ รวมถึง การควบคุมแหล่งต้นตอของโรคอย่างเข้มงวด การบังคับการใช้วัคซีน ไม่มีการเก็บสัตว์ไว้ในตลาดข้ามคืน กำหนดวันพักตลาดไม่ให้มีสัตว์ปีก ห้ามการจำหน่ายนกน้ำ และเข้มงวดสุขอนามัย สิ่งที่ต้องเริ่มพิจารณาคือ ปัญหาด้านความหนาแน่นของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผลกระทบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น ฟาร์มหลายฟาร์มมีที่ตั้งใกล้กันมากในหลายภูมิภาคทั้งเอเชีย และตะวันออกกลาง ฟาร์มเหล่านี้ หากยังอนุญาตให้ทำธุรกิจต่อไป จะต้องให้วัคซีนที่เชื่อถือได้เป็นมาตรการป้องกันโรคหลัก การพัฒนาวัคซีนสายพันธุ์ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในพื้นที่ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างครอบคลุม เพื่อป้องกันโรค และลดการขับเชื้อไวรัสได้ วัคซีนมีความจำเป็นในบางครั้ง สำหรับช่วยป้องกันโรค แต่ในพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์หนาแน่นสูง และความหนาแน่นสัตว์ปีกสูง จำเป็นต้องมีการปรับสายพันธุ์ของเชื้อที่ใช้เตรียมวัคซีนเชื้อตายให้ทันกับสถานการณ์เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์โรคเสมอ รวมถึง พร้อมใช้งาน และได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรมการผลิตชีวภัณฑ์ ในอนาคตเราคงไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสไปได้ ควรพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์สำหรับป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่อาจอุบัติใหม่ขึ้นมาติดต่อสู่มนุษย์ได้
บทสรุป
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติที่เราเฉยชาต่อเชื้อไวรัส หากไม่มีใครใส่ใจถึงอันตรายต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชากรโลก ก็จะไม่มีใครกำหนดมาตรการที่ดีพอสำหรับควบคุมโรค การระบาดใหญ่ของโรคโควิด ๑๙ น่าจะเป็นโอกาสให้เราปรับทัศนคติใหม่ในการมองเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสับไทป์เอช ๙ เอ็น ๒ อยู่ที่เราจะฉวยโอกาสนี้ได้หรือไม่
เอกสารอ้างอิง Sims LD, Tripodi A and Swayne DE. 2021. Spotlight on avian pathology: can we reduce the pandemic threat of H9N2 avian influenza to human and avian health?. Avian Pathol. 49(6): 528-531.