Skip to content
Home » เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน และไก่

เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน และไก่

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

            ระบบกระเพาะอาหาร และลำไส้ มีอิทธิพลต่อสุขภาพได้หลายวิธี ผลการวิจัยจำนวนมาก บ่งชี้ว่าการทำหน้าที่ของลำไส้ไม่ได้มีเฉพาะการแปรรูปอาหารที่สัตว์กินเข้าไปแล้วย่อยสลายให้กลายเป็นสารอาหาร และของเหลว เข้าสู่ร่างกายได้ใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นปราการสำคัญระหว่างสัตว์ และสิ่งแวดล้อมภายในท่อทางเดินอาหาร ปราการที่ทอดยาวไปตามท่อทางเดินอาหารนี้ ประกอบด้วย การป้องกันโรคด้วยวิธีทางกายภาพจากเมือก และสารเคมีบางชนิด เช่น สารคัดหลั่งจากทางเดินอาหาร โมเลกุลของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น อิมมูโนกลอบบูลินคัดหลั่งชนิด เอ (secretory immunoglobulin A, sIgA) ไซโตไคน์ (cytokines) สารสื่อกลางการอักเสบ (inflammaroty mediators) และเปปไทด์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ (antimicrobial peptides, AMPs) เป็นต้น นอกจากนั้น นิเวศวิทยาของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร และการเคลื่อนที่ของลำไส้ ยังเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรค หรือสารพิษชนิดต่างๆรุกล้ำทำอันตรายต่อร่างกายสัตว์ เป็นปราการด่านแรกของการป้องกันโรค

            ไมโครไบโอตาของระบบทางเดินอาหาร (Intestinal microbiota) มีอิทธิพลต่อการป้องกันโรคของสัตว์ได้หลายวิธีด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงของพีเอชในลำไส้ โดยกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids, SCFAs) ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากการหมัก หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจน สร้างเป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นกรด หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเชื้อโรค และการแข่งขันกับเชื้อก่อโรคในการเกาะยึดกับเซลล์ที่ผนังลำไส้ และการใช้ประโยชน์สารอาหาร เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ผลการวิจัยจำนวนมาก บ่งชี้ว่า ระบบทางเดินอาหารมีบทบาทสำคัญต่อการทำหน้าที่ของชั้นเซลล์บุผิวตามผนังลำไส้ และระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหารสามารถสื่อสารกับจุลินทรีย์ เพื่อสนับสนุนให้การย่อยมีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยการใช้เอนไซม์ที่จุลินทรีย์สร้างขึ้นมา การทำงานร่วมกันเช่นนี้มีความสำคัญสำหรับสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และสัตว์ปีกอย่างมาก นอกเหนือจากนั้น ระบบทางเดินอาหารยังสามารถส่งสัญญาณไปยังสมองผ่านเส้นประสาทวากัส เพื่อควบคุมฮอร์โมนที่ส่งผลต่อชีวิตของสัตว์ได้

            “สุขภาพของระบบทางเดินอาหาร (Gut health)” กำลังเป็นที่สนใจในแวดวงวิชาการ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต และการผลิตสัตว์ปีกอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความของสุขภาพของระบบทางเดินอาหารยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และขาดแคลนข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันสำหรับการตรวจวัด เซลล์บุผิวลำไส้ และไมโครไบโอตา เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจกลไกที่มีความสลับซับซ้อนสำหรับการรักษาสุขภาพของระบบทางเดินอาหารที่ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแนวปราการของผนังลำไส้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาโรคต่อไปได้ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจต่อโครงสร้าง และการทำหน้าที่ของลำไส้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสุขภาพของสิ่งมีชีวิต

             เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษที่สำคัญที่สุด สาเหตุโน้มนำเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกเป็นหลัก การแพร่กระจายของเชื้อ และอุบัติการณ์ที่สูงส่งผลให้เกิดความพยายามกำจัดเชื้อทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก และการแพทย์ นอกจากนั้นเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน พบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และธรรมชาติของเชื้อ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงวิชาการว่า ควรจัดให้เป็นเชื้อโรค หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่พบได้ตามธรรมชาติ

ภาพที่ ๑ เชื้อแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษที่สำคัญมาก ภาพถ่ายภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงลักษณะม้วนเป็นเกลียว คล้ายที่เปิดจุกของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน  (แหล่งที่มาของภาพ De Wood, 2008)

            แม้ว่าเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน มีความชุกสูงในฝูงไก่ แต่แทบไม่พบเชื้อเลยในฝูงไก่ที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์อายุน้อยกว่า ๒ สัปดาห์ แสดงว่า กลไกทางชีวภาพสำหรับการต่อต้านการน้างนิคมของเชื้อเกิดขึ้นในสัตว์อายุน้อย เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ปรากฏในลูกไก่เนื้อสามารถช่วยกำจัดเชื้อช่วงอายุน้อยได้

            สัตว์ปีกติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ตามธรรมชาติได้จากวิธีมูลไก่สู่ปาก หลังจากนั้น เชื้อจุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนอยู่ในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะ ไส้ตัน ได้จนสูงถึง ๑๐ ซีเอฟยูต่อกรัม เมื่อเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เข้าสู่ร่างกายสัตว์ปีกสักตัวหนึ่งได้แล้ว การแพร่กระจายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในฝูง ส่งผลให้การติดเชื้อสัตว์ปีกทุกตัวในฝูงสมบูรณ์ได้ภายในไม่กี่วัน ตำแหน่งหลักที่เชื้อชอบอาศัยอยู่ ได้แก่ ไส้ตัน ลำไส้เล็ก และพบได้ปริมาณน้อยในตับ ม้าม กล้ามเนื้อชั้นใน ต่อมไทมัส และต่อมเบอร์ซา เชื้อ  แคมไพโลแบคเตอร์ สามารถแยกเชื้อพบได้จากกระแสเลือด บ่งชี้ว่า เชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไปยังเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ เชื้อสามารถสร้างนิคมตามเนื่อเยื่อในระบบทางเดินอาหารโดยใช้กลยุทธ์หลายวิธีเพื่อให้การเพิ่มจำนวนภายในเมือกได้อย่างรวดเร็ว แล้วรุกรานเซลล์บุผิวบนผนังลำไส้ เพื่อหลบหลีกการกำจัดเชื้อบนชั้นเยื่อเมือก องค์ประกอบของสารอาหารมีอิทธิพลต่อไมโครไบโอตาของลำไส้ และส่งผลต่อการสร้างนิคมของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ได้ ไม่เพียงแต่เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน คนละสายพันธุ์มีรูปแบบการสร้างนิคมบนระบบทางเดินอาหารไม่เหมือนกันแล้ว ความสามารถในการแพร่กระจายไปนอกระบบทางเดินอาหารก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของโฮสต์เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการสร้างนิคมของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน  

            เมื่อไก่เนื้อฝูงหนึ่งติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ แล้ว ประชากรส่วนใหญ่ของฝูงจะติดเชื้อภายในไม่กี่วัน และความชุกโดยรวมภายในฝูงจะขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดที่โรงเชือด ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลำไส้ และสิ่งแวดล้อมภายในระบบทางเดินอาหารของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ภายหลังการติดเชื้อ จึงเป็นประเด็นทางวิชาการที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก

  • การทำลายความแข็งแรงของผนังลำไส้ การรักษาความสมบูรณ์ของเซลล์บุผิวตลอดตามผนังทางเดินอาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดูดซึมสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ผิวของลำไส้ ประกอบด้วย วิลไล และคริปต์ รายงานผลการวิจัยจำนวนมาก บ่งชี้ว่า สารพิษ และเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระดับเนื้อเยื่อในลำไส้ เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ทำให้วิลไลฝ่อในลำไส้เล็กส่วนปลายในลูกไก่ที่ป้อนเชื้อไปแล้ว ๑๔ วัน โดยทั้งความสูงของวิลไล และความลึกของคริปต์ลดลง รวมถึง พื้นที่การดูดซึมอาหารของวิลไลโดยรวมลดลงภายหลังการป้อนเชื้อ ๗ วันเท่นั้น การเปลี่ยนแปลงระดับเนื้อเยื่อข้างต้น บ่งชี้ว่า ๑.) อายุขัยของเซลล์ลำไส้ลดลง ๒.) การสร้างเซลล์ใหม่ลดลง หรือ ๓.) การสร้างสร้างพิษที่เรียกว่า “Cytolethal distending toxin (CTD)” ของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ส่งผลต่อการกดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสัตว์

โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ผิวของวิลไลที่ลดลง ทำให้การทำหน้าที่ดูดซึมอาหารได้ไม่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลลบต่อผลผลิตโดยตรง โดยผลการวิจัยยังพบว่า การทำหน้าที่ของยีนขนส่งสารอาหารทั้งในลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ลดลงอย่างมากในสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์  

  • การซึมผ่านผนังลำไส้เพิ่มขึ้น นิยมเรียกกันว่า “ลำไส้รั่วซึม (Leaky gut)” ความสามารถในการเลือกซึมผ่านผนังลำไส้เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับรักษาปราการระหว่างช่องทางเดินอาหาร และอวัยวะภายใน อย่างไรก็ตาม เชื้อก่อโรคบางชนิดสามารถทำลายความสามารถเลือกซึมผ่านผนังลำไส้โดยอาศัยสารพิษที่ตัวเองสร้างขึ้นมา การซึมผ่านผนังลำไส้ที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เชื้อจุลินทรีย์ และสารพิษเข้าสู่ชั้นเยื่อเมือกได้ดียิ่งขึ้น และแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะภายใน เหนี่ยวนำให้เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และการคัดหลั่งของสารสื่อกลางก่อการอักเสบ ผลการวิจัย แสดงให้เห็นว่า เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ไม่เพียงส่งเสริมให้เชื้อชนิดเดียวกันเองเคลื่อนย้ายเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะ เชื้อ อี. โคไล ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และไก่
  • การเปลี่ยนแปลงของรอยต่อระหว่างเซลล์ การผ่านของไอออนและสารอาหารผ่านช่องระหว่างเซลล์ (Paracellular pathway) ถูกควบคุมโดยรอยต่อที่เรียกว่า “ไทต์จังก์ชัน (tight junctions, TJ)” เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเสียหายของรอยต่อแนวไทต์จังก์ชัน เป็นการเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป แล้วกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตามปรกติ การส่งสัญญาณด้วยไออนของแคลเซียมจากเซลล์ลำไส้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติการซึมผ่านผนังลำไส้ของช่องระหว่างเซลล์ การติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ รบกวนการส่งสัญญาณด้วยไออนของแคลเซียมในเซลล์ลำไส้ไก่ ที่ช่วยส่งเสริมการจัดเรียงใหม่ของโครงสร้างไซโตสเกเลตอนภายในไมโครวิไล (microvillar cytoskeleton rearrangement) เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ สามารถทำลายโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของไทต์จังก์ชัน เพื่อเปิดช่องทางให้เชื้อสามารถผ่านเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ความเสียหายของไทต์จังก์ชันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพยาธิกำเนิดของโรคติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน

ภาพที่ ๒ พยาธิกำเนิดของโรคติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ในไก่ (a) การสร้างเมือกเพิ่มขึ้น กระตุ้นการทำงานของมาโครฝาจ และเซลล์เดนไดรติก ซึ่งเป็นเซลล์ตามระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด การจดจำแบคทีเรียก่อโรคผ่านตัวรับของเซลล์ต่อรูปแบบระดับโมเลกุล (Molecular pattern-recognition receptors)เช่น TLRsแล้วกระตุ้นการสร้างอิมมูโนกลอบบูลิน เอ จากพลาสมาเซลล์ ในชั้นลามินา โปรเปรีย (b) การทำลายไทต์จังก์ชันทำให้การซึมผ่านเซลล์บุผิวที่ลำไส้สูงขึ้น และเพิ่มการนำเข้าแอนติเจนในช่องทางเดินอาหารมากขึ้น (c) การเคลื่อนที่ผ่านของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ผ่านช่องระหว่างเซลล์ และผ่านเซลล์ลำไส้เข้าสู่เนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นลึกลงไป (d) การดูดซึมอาหารเปลี่ยนแปลงไป (e) การเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอตาในลำไส้ (Awad et al., 2018)      

  • การเหนี่ยวนำการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการเพื่อให้การสร้างนิคมของเชื้อประสบความสำเร็จ แล้วเคลื่อนย้ายเข้าสู่อวัยวะภายใน และหลบหลีกกลไกของระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโรค ระบบทางเดินอาหารเป็นอวัยวะภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด และภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การจดจำรูปแบบของเชื้อก่อโรคอาศัยตัวรับของเซลล์ที่เรียกว่า “Toll-like receptors (TLRs)” เป็นกลไกสำคัญสำหรับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดในไก่ ดังนั้น ชั้นเยื่อเมือกของลำไส้เหนี่ยวนำกลไกที่ส่งผลต่อการลดความสามารถของเชื้อก่อโรคในการรุกรานเข้าสู่ชั้นเยื่อเมือกเช่น การสร้างเมือก การกระตุ้นตัวรับของเซลล์ชนิด TLRs และกระตุ้นเซลล์พลาสมาในชั้นลามินา โปรเปรียให้คัดหลั่งอิมมูโนกลอบบูลิน เอ เพื่อควบคุม และจำกัดการแทรกเข้ามาของเชื้อก่อโรค ทั้งเมือก โปรตีนต้านเชื้อจุลินทรีย์และอิมมูโนกลอบบูลิน ชนิด เอ ทำงานร่วมกันในการป้องกันชั้นเซลล์บุผิวที่ลำไส้จากการรุกรานของเชื้อแบคทเรีย โดยเฉพาะ กรณีที่เชื้อก่อโรคมีปริมาณสูง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนรูปร่างของเซลล์ และเนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหาร และการตอบสนองของเซลล์ชนิดที ดังนั้น พื้นผิวชั้นเยื่อเมือกในลำไส้เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับควบคุมระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด และแบบจำเพาะต่อการควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรีย   
  • การเปลี่ยนแปลงไมโครไบโอตาในลำไส้ ไมโครไบโอตาในลำไส้มีบทบาทสำคัญต่อการใช้สารอาหาร การป้องกันเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และการทำลายสารพิษ นอกเหนือจาก การสร้างเสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน จึงส่งผลต่อทั้งสุขภาพ การเจริญเติบโต และผลผลิตการเลี้ยงสัตว์ปีก ไมโครไบโอตาของลำไส้ช่วยควบคุมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของสัตว์ และจำกัดการสร้างนิคมของเชื้อก่อโรค ไมโครไบโอตามีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ชั้นเยื่อเมือกด้วยกลไกการแก่งแย่งแข็งขัน และโดยทางอ้อมจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันผ่านการสร้างสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายในท่อทางเดินอาหาร

บทบาทของไมโครไบโอตาในลำไส้ต่อการกดการสร้างนิคมของเชื้อก่อโรคเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การสร้างกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid, SCFA) หลายชนิดที่มีฤทธิ์หยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิดทั้งทางตรง หรือโดยการลดระดับพีเอชของลำไส้ บางชนิดก็สร้างแบคเทอริโอซิน (bacteriocins) โมเลกุลเปปไทด์ขนาดเล็กที่มีฤทธิ์หยุดการเจริญเติบโต หรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้น จุลินทรีย์ในลำไส้ไม่เพียงใช้เครือข่ายการส่งสัญญาณระหว่างจุลินทรีย์ต่อจุลินทรีย์ด้วยกันเมื่อมีเชื้อก่อโรครุกรานเข้ามาเท่านั้น แต่ยังใช้เครือข่ายการส่งสัญญาณดังกล่าวเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ และระบบนิเวศของจุลินทรีย์ภายในลำไส้อีกด้วย การสื่อสารระหว่างเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเรียกว่า “ควอรัม เซนซิง (quanrum sensing)” กระบวนการนี้สามารถเกิดขึ้นระหว่างชนิดของเชื้อแบคทีเรียสปีชีส์หนึ่งๆ หรือระหว่างคนละสปีชีส์ โดยเฉพาะ เมื่อสภาวะแวดล้อมมีความเหมาะสม  ดังนั้น ไมโครไบโอตา จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันระบบทางเดินอาหาร เนื่องจาก ส่งผลต่อการพัฒนาชั้นเซลล์บุผิวที่ลำไส้ และสรีรวิทยาของร่างกายสัตว์ ความผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับไมโครไบโอตาในลำไส้ ส่งผลกระทบให้การเจริญเติบโตช้าลง การต้านทานโรคอ่อนแอลง และความไวต่อโรคติดเชื้อหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น

  • ผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ปีก สุขภาพของระบบทางเดินอาหาร และผลการเลี้ยงสัตว์ปีกมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อาการทางคลินิกจากโรคของระบบทางเดินอาหารมักไม่ค่อยชัดเจนในไก่ แต่เกิดผลกระทบทางลบต่อการกินอาหาร และการเจริญเติบโตไปแล้ว รายงานการวิจัยในปัจจุบัน ได้มีหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ส่งผลต่อทั้งสุขภาพ และสวัสดิภาพไก่  

ภาพที่ ๓ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของไมโครไบโอตาในร่างกายไก่เนื้อ เส้นวงกลมทึบเป็นคุณลักษณะของตัวสัตว์ เส้นวงกลมประเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยจากแม่ รวมถึง การแพร่กระจายเชื้อตามแนวราบ และแนวดิ่ง รวมถึง ภูมิคุ้มกันจากแม่  (Kers et al., 2018)

            ลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญที่เชื่อมโยงกับเชื้อก่อโรคในลำไส้ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพไก่ ชีววิทยาของการติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ในไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ ได้รับอิทธิพลจากตัวเชื้อแบคทีเรียเอง และโฮสต์ โดยแปรผันไปตามสายพันธุ์ของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน การตอบสนองของลำไส้ การสร้างนิคมบนระบบทางเดินอาหาร และการแพร่กระจายไปนอกทางเดินอาหาร เป็นต้น รายงานการวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ต่อด่านป้องกันโรคของเซลล์บุผิวตามระบบทางเดินอาหาร และไมโครไบโอตาในลำไส้ เช่น การซึมผ่านผนังลำไส้ที่เพิ่มมากขึ้น และนำเชื้อแบคทีเรียเคลื่อนย้ายเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นลึกลงไป การดูดซึมอาหารที่ลดลง ระดับกรดไขมันสายสั้นลดลง และการเปลี่ยนแปลงของไมโครไบตา ตลอดจาก การแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเพิ่มมากขึ้น สรุปได้ว่า เชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำหน้าที่ของด่านป้องกันโรคที่ระบบทางเดินอาหารบกพร่อง และส่งผลต่อการความเป็นสุขของไก่ และประสิทธิภาพการผลิตในที่สุด ถึงเวลานี้ นักวิชาการได้เปลี่ยนมุมมองต่อเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน ใหม่ ไม่ใช่แค่เชื้อปรกติในร่างกายสัตว์ แต่เป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในลำไส้ไก่ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพ และสวัสดิภาพของไก่อีกด้วย      

ภาพที่ ๔ สำนักงานมาตรฐานอาหารของสหราชอาณาจักร พบว่า เนื้อไก่ดิบร้อยละ ๗๓ ปนเปื้อนด้วยเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ ผู้บริโภคสัมผัสไก่ดิบ มากกว่า ๔๖๓ ล้านตัวต่อปี เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เนื่องจาก ยังพบว่า เชื้อปนเปื้อนตามบรรจุภัณฑ์ร้อยละ ๗ ของบรรจุภัณฑ์สินค้าเนื้อไก่ดิบปนเปื้อนเชื้อ มากกว่า ๙ ล้านชิ้นถูกจำหน่ายในสหราชอาณาจักรทุกปี (แหล่งภาพ BioMaster Antimicrobial Technology)

เอกสารอ้างอิง

Awad WA, Hess C and Hess M. 2018. Re-thinking the chicken-Campylobacter jejuni interaction: a review. Avian Pathol. 47(4): 352-363.  

Kers JG, Velkers FC, Fischer EAG, Hermes GDA, Stegeman JA and Smidt H. 2018. Host and environmental factors affecting the intestinal microbiota in chickens. Front. Microbiol. 9: 1-14.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *