Skip to content
Home » ไข่แดง อวัยวะสารพัดประโยชน์ของตัวอ่อนลูกไก่

ไข่แดง อวัยวะสารพัดประโยชน์ของตัวอ่อนลูกไก่

  • by

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.วิษณุ วรรณแสวง

            ตัวอ่อนของสัตว์ปีก พึ่งพาสารอาหารจากไข่แดง ไข่ขาว หรืออัลบูมิน และเปลือกสำหรับการเจริญเติบโต และการพัฒนา ถุงไข่แดง ประกอบด้วย องค์ประกอบของไข่แดง รวมกับเนื้อเยื่อถุงไข่แดงที่ปกคลุมไข่แดงเอาไว้ เนื้อเยื่อถุงไข่แดงมักเรียกว่า เยื่อหุ้มถุงไข่แดง แต่ความจริงแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญอีกหลายหน้าที่ เช่น การรับสารอาหาร การทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึมหลายอย่าง และเป็นปราการด่านแรกต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ไข่แดง ดังนั้น เยื่อหุ้มถุงไข่แดงจึงมีความจำเป็นสำหรับสุขภาพของตัวอ่อน เนื่องจาก อวัยวะหลายชนิดภายในตัวอ่อนยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์พร้อม เนื้อเยื่อถุงไข่แดงจึงเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทำหน้าที่เหล่านี้แทนไปก่อน ยกตัวอย่างเช่น พัฒนาการของลำไส้และตับเริ่มต้นเมื่ออายุการฟักราว ๑๕ วัน ต่อมไทรอยด์ ๑๐ วัน และการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก ๑๔ วัน เนื้อเยื่อถุงไข่แดง จึงทำหน้าที่ทดแทนไขกระดูกในการสังเคราะห์เม็ดเลือด ทดแทนลำไส้สำหรับการย่อยอาหาร และขนส่งสารอาหาร และลิปิด ทดแทนตับสำหรับการสร้างโปรตีนพาหะจากพลาสมา และเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และทดแทนต่อมไทรอยด์สำหรับการควบคุมกระบวนการเมตาโบลิซึม และทดแทนระบบภูมิคุ้มกันโดยอาศัยแอนติบอดีจากแม่ไก่ และการสร้างเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น

ภาพที่ ๑ ไข่แดง นอกจากใช้เป็นอาหารจานอร่อยแล้ว ยังมีบทบาทเป็นอวัยวะสารพัดประโยชน์ของตัวอ่อนลูกไก่ (แหล่งภาพ Iryna Melnyk/iStock/Getty Images)

คุณสมบัติของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงตั้งแต่ระยะแรกถึงระยะสุดท้ายของการสร้างตัวอ่อน เริ่มต้นขึ้นราวอายุ ๑๙ วัน ถุงไข่แดงตกลงสู่ช่องท้องเสร็จสมบูรณ์ราว ๑๔ ชั่วโมงก่อนที่จะฟัก ในช่วงท้ายของการบ่ม เนื้อเยื่อถุงไข่แดงผ่านกระบวนการเสื่อมลงก่อนถูกดึงเข้าภายในช่องร่างกาย แม้ว่า ลูกไก่ใช้สารอาหารเป็นโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตจากอาหารภายหลังการฟักแล้ว แต่ลูกไก่ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากลิปิดที่เก็บกักไว้ในถุงไข่แดงที่เหลืออยู่ แม้ว่า เนื้อเยื่อถุงไข่แดงกำลังฝ่อลงก็ตาม การเสื่อมสลายลงของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นไปตามธรรมชาติ แต่การขัดขวางการดูดซึมไข่แดงอาจนำไปสู่การขาดแคลนสารอาหารที่มีความจำเป็น และภูมิคุ้มกันจากแม่ ส่งผลให้อัตราการตายของลูกไก่ระยะแรก และปัญหาคุณภาพลูกไก่ได้

ภาพที่ ๒ ถุงไข่แดงเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนกลางผ่านแกนถุงไข่แดง (Wong and Uni, 2021)

๑.) การสร้างไข่แดง และองค์ประกอบ และการนำไปใช้โดยตัวอ่อน

            ในระหว่างการพัฒนาของฟอลลิเคิล มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของโอโอไซต์เดี่ยวเพื่อสร้างฟอลลิเคิลปฐมภูมิในรังไข่ ในระหว่างนี้เอง ลิปิดส่วนใหญ่อยู่ในรูปไลโปโปรตีน และถูกสังเคราะห์โดยตับ แล้วคัดหลั่งเข้าสู่พลาสมาของแม่ไก่ ไลโปรโปรตีนถูกขนส่งมาจากพลาสมาให้กับฟอลลิเคิลเพื่อสร้างเป็นไข่แดงโดยกลไกที่เรียกว่า “กลไกเข้าสู่ภายในเซลล์โดยอาศัยตัวรับของเซลล์” ในเวลาต่อมา ระหว่างการสร้างไข่ก็จะเคลื่อนที่ลงมาในท่อนำไข่ ไข่ขาว และเปลือกไข่ก็ค่อยๆประกอบกันล้อมรอบไข่แดง

            อายุของไก่พันธุ์ และขนาดไข่ฟัก ส่งผลต่อองค์ประกอบของไข่ ไข่ฟักที่มีขนาดใหญ่จากแม่ไก่ที่อายุเท่ากันจะมีสัดส่วนของไข่ขาวหรืออัลบูมินมากกว่าไข่แดงเปรียบเทียบกับไข่ฟักที่มีขนาดเล็ก เมื่อแม่ไก่อายุเพิ่มขึ้น ขนาดของไข่ฟักที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสัดส่วนของไข่แดงที่เพิ่มขึ้นมากกว่าไข่ขาว ไข่ฟักจากแม่ไก่อายุ ๓๐ สัปดาห์ ประกอบด้วยไข่ขาวร้อยละ ๗๑ และไข่แดง ร้อยละ ๒๙ ขณะที่ อายุ ๕๐ สัปดาห์ ไข่ขาวร้อยละ ๖๖ และไข่แดง ร้อยละ ๓๔ ไข่แดงจากแม่ไก่อายุ ๓๐ สัปดาห์ ประกอบด้วยน้ำร้อยละ ๕๕ ไขมัน ร้อยละ ๒๔ และโปรตีน ร้อยละ ๑๘ ขณะที่ อายุ ๕๐ สัปดาห์ ประกอบด้วย น้ำร้อยละ ๕๓ ไขมัน ร้อยละ ๒๗ และโปรตีน ร้อยละ ๑๖ ดังนั้น ไข่จากฝูงไก่พันธุ์ที่อายุมากกว่าประกอบด้วยสารอาหารมากกว่าเนื่องจากมีสัดส่วนของไข่แดงที่อุดมไปด้วยสารอาหารสูงกว่าอย่างมาก

            ไข่แดงเป็นแหล่งสำคัญของลิปิด และพลังงาน ผ่านกระบวนการออกซิเดชันของกรดไขมันระหว่างการพัฒนาของลูกไก่ กรดไขมันชนิดสำคัญที่พบได้ในไข่แดงก่อนการฟัก ได้แก่ ปาล์มมิติก กรดสเตียริก กรดโอเลอิก และกรดไลโนเลอิก สัดส่วนของกรดไขมันเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของไก่พันธุ์ ไขมันในไข่แดงน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของตัวอ่อนลูกไก่เมื่ออายุได้ ๑๓ วัน ขณะที่ ช่วงอายุตัวอ่อน ๑๕ ถึง ๒๐ วัน การรับเอาไขมันจากไข่แดงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กรดไขมันไม่อิ่มตัวขนาดสายยาวชนิด กรดโดโคซาเฮกซีโนอิก ถูกใช้อย่างรวดเร็วจากไข่แดงเปรียบเทียบกับกรดไขมันชนิดอื่นๆ ในระหว่างอายุตัวอ่อน ๑๕ ถึง ๑๙ วัน กรดไขมันชนิดนี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของสมอง และเรตินา ซึ่งอาจช่วยอธิบายถึงการรับเอากรดไขมันเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เพื่อส่งเสริม และเพิ่มน้ำหนักสมองเป็นสองเท่าในช่วงอายุตัวอ่อน ๑๕ ถึง ๑๙ วัน อายุของไก่พันธุ์มีอิทธิพลต่อขนาดไข่ อัตราส่วนระหว่างไข่แดงต่อไข่ขาว และสัดส่วนของกรดไขมันในไข่แดง ในระหว่าง ๗ วันสุดท้ายของการฟัก มีการใช้กรดไขมันจากไข่แดงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ กรดโดโคซาเฮกเซโนอิก

๒.) โครงสร้าง และการพัฒนาเนื้อเยื่อถุงไข่แดง

            เนื้อเยื่อของถุงไข่แดงเป็นเยื่อหุ้มภายนอกของตัวอ่อนที่พัฒนามาจากลำไส้ของตัวอ่อนเริ่มต้นพัฒนาขึ้นเมื่อตัวอ่อนอายุได้ ๒ วัน และค่อยๆก่อรูปเป็นเยื่อหุ้มล้อมรอบองค์ประกอบของไข่แดง เนื้อเยื่อของถุงไข่แดง ประกอบด้วยชั้นเซลล์ ๓ ชั้นที่วางตัวตามลำดับในช่วง ๓ ถึง ๔ วันถัดมา

  • ชั้นเซลล์เอกโตเดิร์ม เป็นเซลล์ชั้นแรกของตัวอ่อนที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วปกคลุมพื้นผิวของถุงไข่แดง
  • ชั้นเซลล์เอนโดเดิร์ม กระจายตัวระหว่างไข่แดง และชั้นเซลล์เอกโตเดิร์ม และก่อรูปเป็นชั้นเซลล์บุผิวที่สัมผัสกับถุงไข่แดง และมีบทบาทสำคัญต่อการรับสารอาหาร
  • ชั้นเซลล์มีโซเดิร์ม ที่มีการเคลื่อนย้ายระหว่างชั้นเซลล์เอกโตเดิร์ม และชั้นเซลล์เอนโดเดิร์ม เป็นตำแหน่งของการสร้างเม็ดเลือดแดง

เนื้อเยื่อถุงไข่แดงพัฒนาจากลำไส้ส่วนกลาง จึงทำให้มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกัน เนื้อเยื่อถุงไข่แดง ประกอบด้วยโครงสร้างคล้ายรูปนิ้วมือ หรือวิลไล ที่ประกอบด้วย ชั้นของเซลล์บุผิวชนิดเอนโดเดิร์ม (Endodermal epithelial cells, EEC) ที่มีเส้นเลือดอยู่บริเวณส่วนกลาง ภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงที่อายุตัวอ่อน ๑๕ วัน แสดงให้เห็นรูปร่างคล้ายกับวิลไลบุผนังด้วยชั้นของ EEC ยื่นเข้าไปในไข่แดง ขณะที่ ภาคตัดขวางของวิลไลของถุงไข่แดง แสดงให้เห็นชั้นของ EEC ล้อมรอบเส้นเลือดที่อยู่บริเวณส่วนกลาง ชั้นของ EEC ของถุงไข่แดงมีเซลล์ที่ทำหน้าที่หลายอย่าง มีบทบาทต่อการดูดซึมสารอาหาร ขับเอนไซม์ และฮอร์โมน ในทางตรงกันข้ามกับเซลล์พิเศษชนิดต่างๆที่บุผนังวิไลของลำไส้มีบทบาทสำคัญต่อการดูดซึมอาหาร ได้แก่ เซลล์เอนเทอโรไซต์ หรือการคัดหลั่ง ได้แก่ เซลล์เอนเทอโรเอนโดไครน์ และก๊อบเบล็ต ที่พื้นที่ผนังชั้นของ EEC ในถุงไข่แดงเป็นไมโครวิลไล ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสกับไข่แดงให้ได้มากที่สุด ทั้งรูปร่าง และการทำหน้าที่ดังกล่าวคล้ายคลึงกับไมโครวิลไลบนชั้นเซลล์บุผิวของวิลไลในลำไส้ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด แสดงให้เห็นว่า ที่อายุตัวอ่อน ๑๕ วัน พื้นที่ผิวของเซลล์ชั้น EEC มีขนาดใหญ่ และโครงสร้างของไมโครวิลไลเริ่มก่อรูปขึ้น เมื่ออายุตัวอ่อน ๑๙ วัน ชั้นของ EEC เริ่มลดขนาดลง ขณะที่ ไมโครวิลไลสามารถสังเกตเห็นได้บริเวณขอบของพื้นผิวเซลล์ และเมื่ออายุตัวอ่อน ๒๑ วัน มีขนาดเล็กลง และไมโครวิลไลปกคลุมทั่วทั้งพื้นผิวของเซลล์แล้ว เมื่อทดลองวัดชั้นของ EEC ตามอายุ พบว่า พื้นที่ผิวบริเวณส่วนบนเฉลี่ยจะลดลงร้อยละ ๑๘.๒ จากอายุตัวอ่อน ๑๕ วันสู่ ๒๑ วัน การลดลงของพื้นที่ผิวถุงไข่แดงดูเหมือนว่าเป็นผลมาจากการลดการดูดซึมสารอาหาร และการเตรียมถุงไข่แดงนำเข้าสู่ภายในช่องท้อง

ภาพที่ ๓ ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แสดงถุงไข่แดงของตัวอ่อนลูกไก่ที่อายุ ๑๕ วัน (A) ถุงไข่แดง ประกอบด้วย โครงสร้างที่คล้ายวิลไลยื่นเข้ามาในไข่แดง (B) ภาพขยายของวิลไล ประกอบด้วย เซลล์บุผิวชนิดเอนโดเดิร์ม (EEC) (Dayan, 2019)

๒. บทบาทการทำหน้าที่ของถุงไข่แดง

            แม้ว่า สัตว์ชนิดที่ออกลูกเป็นไข่ และเป็นตัวจะมีความแตกต่างกัน แต่เนื้อเยื่อถุงไข่แดงที่ทำหน้าที่หลายประการคล้ายคลึงกันในช่วงระหว่างที่อวัยวะของตัวอ่อนกำลังพัฒนา และเจริญวัย การทำหน้าที่ของถุงไข่แดงระหว่างการพัฒนาตัวอ่อนของไพร์เมต พบว่า ถุงไข่แดงมีบทบาทอย่างมาก และเป็นศูนย์กลางการทำหน้าที่หลายประการสำหรับการสร้างเม็ดเลือด การพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ และการนำส่งสารอาหาร การใช้เทคนิคตรวจลำดับสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอเปรียบเทียบถุงไข่แดงของมนุษย์ หนูทดลอง และไก่ พบว่า แม้ว่าการพัฒนาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ปีกจะแตกต่างกัน แต่การทำหน้าที่ของถุงไข่แดงยังอนุรักษ์ไว้ให้เหมือนกัน

๑.) บทบาทของถุงไข่แดงต่อภูมิคุ้มกันของสัตว์

            ไข่เป็นปราการป้องกันเชื้อโรคตามธรรมชาติด้วยโครงสร้าง และองค์ประกอบของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ไข่ขาวประกอบด้วยโปรตีนต้านจุลินทรีย์ ๒ ชนิดหลัก ได้แก่ โอโวทรานส์เฟอริน และ ไลโซไซม์

๑.๑) โอโวทรานส์เฟอริน เป็นไกลโคโปรตีนที่จับกับธาตุเหล็ก ทำหน้าที่เป็นสารต้านจุลินทรีย์ได้โดยแย่งธาตุเหล็กที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และนำส่งธาตุเหล็กนี้ไปให้กับตัวอ่อน

๑.๒) ไลโซไซม์ มีสัดส่วนร้อยละ ๓.๕ ของโปรตีนจากไข่ขาวทั้งหมด และย่อยผนังเซลล์ของแบคทีเรียแกรมลบได้ นอกเหนือจาก การออกฤทธิ์โดยตรงต่อผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียแล้ว กระบวนการไฮโดรไลซิสยังสร้างเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรียทั้งแกรมบวก และลบ อีกด้วย

ไข่แดง ยังประกอบด้วยกลไกของตัวเองสำหรับต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ ระหว่างกระบวนการสร้างไข่ฟัก แอนติบอดีสามารถถ่ายทอดจากแม่ไก่สู่ไข่แดง และให้ภูมิคุ้มกันสำหรับการพัฒนาของตัวอ่อนได้ ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับบทบาทของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงสำหรับการพัฒนาตัวอ่อน รายงานการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เนื้อเยื่อถุงไข่แดงสามารถสังเคราะห์ เบตา-ดีเฟนซิน ๑๐ ในสัตว์ปีก ระดับสูงในช่วงการสร้างตัวอ่อนระยะกลาง โดย เบตา-ดีเฟนซิน ๑๐ เป็นเปปไทด์ที่มีประจุบวกสายสั้น จำนวนกรดอะมิโนไม่เกิน ๑๐๐ ตัว ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ การทำงานร่วมกันระหว่างเปปไทด์ในไข่ขาว แอนติบอดีจากแม่ไก่ในไข่แดง และการสังเคราะห์เบตา-ดีเฟนซิน ๑๐ โดยเนื้อเยื่อถุงไข่แดงจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญพร้อมกันหลายด้านในการต่อสู้กับเชื้อโรคในไข่ไก่

ลูกไก่ที่กำลังพัฒนาอาศัยแอนติบอดีจากแม่ไก่ที่สะสมในไข่แดง สำหรับป้องกันเชื้อโรค จนกระทั่งสังเคราะห์แอนติบอดีด้วยตัวเองได้ เนื้อเยื่อถุงไข่แดง มีบทบาทสำคัญสำหรับการได้รับภูมิคุ้มกันจากภายนอก โดยรับเอาแอนติบอดีที่เป็นอิมโมโนกลอบูลินชนิด วาย ของแม่ไก่จากถุงไข่แดง เริ่มตั้งแต่อายุตัวอ่อน ๗ วัน โดยเพิ่มขึ้นชัดเจนในการดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อจากอายุ ๑๙ วันจนถึงฟัก

๒.) บทบาทของถุงไข่แดงในการดูดซึมสารอาหาร

            เซลล์บุผิวของเนื้อเยื่อถุงไข่แดง คัดหลั่งเอนไซม์ช่อยย่อยอาหาร และเป็นสื่อกลางการขนส่งสารอาหารหลายชนิด เช่น กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต ลิปิด และเกลือแร่ โดยใช้โปรตีนขนส่งที่จับอยู่กับเยื่อหุ้มเซลล์ ในหลายกรณี เอ็ม-อาร์เอ็นเอ สำหรับโปรตีนขนส่งเหล่านี้ ถูกตรวจวัดเชิงปริมาณได้ด้วยเรียลไทม์พีซีอาร์ แต่ไม่สามารถใช้สำหรับการบ่งชี้ถึงเซลล์ที่มีการแสดงออกของโปรตีนขนส่งเหล่านี้ได้  

๓.) บทบาทของถุงไข่แดงในกระบวนการเมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต

            การเพิ่มขึ้นของปริมาณกลูโคลในไข่แดงในช่วงท้ายของการสร้างตัวอ่อน เป็นผลมาจากการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกลโคเจโนไลซิส หรือกลูโคเจเนซิสใน เนื้อเยื่อถุงไข่แดง ช่วยสร้างคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญระหว่างการฟักไข่ช่วงท้าย เนื่องจาก น้ำหนักของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงจะมากกว่าตับ ๑๐ เท่า จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเก็บสะสม การสังเคราะห์ และการสลายไกลโคเจน กลูโคสยังถูกสังเคราะห์ได้ในเนื้อเยื่อถุงไข่แดงโดยเอนไซม์สร้างกลูโคส และเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจน เมื่อลูกไก่ฟักเป็นตัวแล้ว กลูโคสจากไกลโคเจนก็จะปลดปล่อยออกมา ซึ่งอาจมีความสำคัญสำหรับตัวอ่อนลูกไก่ระหว่างกระบวนการฟักได้  

๔.) บทบาทของถุงไข่แดงในกระบวนการเมตาโบลิซึมของลิปิด

            ไข่แดงประกอบด้วยลิปิดความเข้มข้นสูง เนื้อเยื่อถุงไข่แดง จึงมีบทบาทสำคัญในการดูดซึม และการใช้ประโยชน์ลิปิด ราวครึ่งหนึ่งของปริมาณลิปิดในไข่แดงถูกดูดซึมระหว่างอายุ ๑๓ ถึง ๑๗ วัน ทำให้เกิดการสะสมของลิปิดในเนื้อเยื่อถุงไข่แดง

๕.) บทบาทของถุงไข่แดงในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง

            การพัฒนากระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง และการสร้างเครือข่ายเส้นเลือดในเนื้อเยือถุงไข่แดง เริ่มต้นจากคลื่นลูกแรกของเซลล์เม็ดเลือดแดงระยะปฐมภูมิ ต่อมาจึงสร้างเป็นคลื่นลูกที่สองของเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ นับตั้งแต่อายุ ๑ ถึง ๕ วัน ถุงไข่แดงเป็นตำแหน่งเดียวสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงระยะปฐมภูมิ เริ่มตั้งแต่อายุ ๔ ถึง ๔.๕ วัน ถุงไข่แดงจึงสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์จนกระทั่งอายุราว ๑๕ วัน ขณะที่ ไขกระดูกเริ่มต้นสร้างเม็ดเลือดแดงได้ที่อายุราว ๑๒ ถึง ๑๓ วัน การวิเคราะห์ทางเนื้อเยื่อวิทยา แสดงให้เห็นว่า เนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นตำแหน่งสำหรับสร้างเม็ดเลือดแดงได้ตั้งแต่อายุ ๔ ถึง ๑๒ วัน ขณะที่ ทั้งเนื้อเยื่อถุงไข่แดง และตับเป็นตำแหน่งสำหรับสร้างเม็ดเลือดแดงได้ตั้งแต่อายุ ๑๓ ถึง ๒๐ วัน

๖.)  บทบาทของถุงไข่แดงในการทำหน้าที่ของตับ

            ระหว่างการสร้างตัวอ่อน เนื้อเยื่อถุงไข่แดง มีหน้าที่สังเคราะห์พลาสมา โปรตีน เนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นตำปหน่งสำคัญของการสังเคราะห์โปรตีน อัลฟา เฟโต โปรตีน หรือเอเอฟพี เพียงเล็กน้อย แต่อวัยวะที่สังเคราะห์ออกมาได้ปริมาณมากคือ ตับ การวิเคราะห์ทรานส์คริปโตม พบว่า จำนวนของเอ็ม-อาร์เอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับตับ ถูกแสดงออกในเนื้อเยื่อถุงไข่แดง เช่น เอเอฟพี และอัลบูมิน ปริมาณเอ็ม-อาร์เอ็นเอของอัลบูมินจะอยู่ในระดับคงที่ระหว่างอายุ ๑๓ ถึง ๒๑ วัน ขณะที่ เอเอฟพีลดลงระหว่าง ๑๕ ถึง ๒๑ วัน

๗.) บทบาทของถุงไข่แดงในการควบคุมกระบวนการเมตาโบลิซึม

            ต่อมไทรอยด์มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมเมตาโบลิซึมของร่างกาย โดยการสังเคราะห์ และคัดหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด การทดลองตรวจวัดการแสดงออกของเอนไซม์สำคัญหลายชนิดที่ควบคุมการทำงานของ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ของตัวอ่อนลูกไก่ไข่อายุระหว่าง ๔ ถึง ๒๑ วัน พบว่า ปริมาณของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ในไข่แดงลดลงแบบเส้นตรงตามการพัฒนาของตัวอ่อน ปริมาณของเอ็ม-อาร์เอ็นเอที่เกี่ยวข้องกับทรานส์ไทเรตินในเนื้อเยื่อถุงไข่แดง เปรียบเทียบระหว่างอุณหภูมิการฟักในกลุ่มควบคุม (๓๗.๘ องศาเซลเซียส) กลุ่มเย็น (๓๖.๓ องศาเซลเซียส) และกลุ่มร้อน (๓๙.๓ องศาเซลเซียส) พบว่า รูปแบบเหมือนกัน โดยมีระดับสูงในช่วงอายุระหว่าง ๕ ถึง ๑๑ วัน แล้วค่อยๆลดลงจนถึงวันฟักเป็นตัวลูกไก่ นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังพบว่า ตัวรับของเซลล์ต่อฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ชนิด อัลฟา และเบตา พบได้ในเนื้อเยื่อถุงไข่แดงในช่วงอายุระหว่าง ๔ ถึง ๑๙ วัน แสดงให้เห็นว่า เนื้อเยื่อถุงไข่แดงมีบทบาทเป็นสื่อกลางถ่ายทอดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์จากไข่แดงให้ตัวอ่อน ผ่านกระแสเลือดภายนอกตัวอ่อน

ภาพที่ ๔ คุณสมบัติของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงไก่ มีหน้าที่สำคัญมากมายทั้งเป็นลำไส้ ตับ ไขกระดูก และต่อมไทรอยด์ ขณะที่ อวัยวะของตัวอ่อนกำลังพัฒนา

            ก่อนการพัฒนาของอวัยวะให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอ่อนของลูกไก่ต้องอาศัยเนื้อเยื่อถุงไข่แดงช่วยทำหน้าที่เกี่ยวกับเมตาโบลิซึมสำหรับการเจริญเติบโต การพัฒนา และสุขภาพของตัวอ่อน เนื้อเยื่อถุงไข่แดง ประกอบด้วย ชั้นของเซลล์ ๓ ชั้น และทำหน้าที่ต่างๆข้างต้น ไม่ใช่เป็นเพียงเยื่อบุผิวเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เสมือนอวัยวะที่ทำหน้าที่หลายประการ เนื้อเยื่อถุงไข่แดงทำหน้าที่เป็น ๑.) อวัยวะตามระบบภูมิคุ้มกัน โดยการขนส่งแอนติบอดีจากแม่ผ่านไข่แดง และมีการแสดงออกของเปปไทด์ที่ป้องกันโฮสต์จากเชื้อโรคเรียกว่า  เบตา-ดีเฟนซิน ๑๐ ๒.) ลำไส้สำหรับการย่อยโปรตีน และโพลีแซคคาไรด์ และการดูดซึมกรดอะมิโน น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ลิปิด และแร่ธาตุ ๓.) ตับสำหรับเก็บสะสมไกลโคเจน และมีการแสดงออกของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไกลโคเจน สลายและสร้างกลูโคส รวมถึง การสังเคราะห์พลาสมาโปรตีนอีกด้วย ๔.) ไขกระดูกสำหรับทั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงระยะปฐมภูมิ และระยะสมบูรณ์ ๕.) ต่อมไทรอยด์สำหรับการสังเคราะห์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ควบคุมระบบเมตาโบลิซึมของร่างกาย การเปลี่ยนผ่านหน้าที่จากเนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นการทำงานของอวัยวะที่แท้จริงของตัวอ่อนปรากฏขึ้นอย่างผสานกลมกลืนกันระหว่างการฟักไข่

เอกสารอ้างอิง

Wong EA and Uni Z. 2021. Centennial review: the chicken yolk sac is a multifunctional organ. Poul Sci. 100: 1-13.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *